เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706(กม.03)/39
วันที่: 15 ตุลาคม 2545
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีนำส่วนเกินทุนมาหักออกจากผลขาดทุนสะสมทางบัญชี
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ตรี (12)
ข้อหารือ: กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่น บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียน 882.35
ล้านบาท เรียกชำระแล้ว 880.35 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสะสมจากการดำเนินงานจำนวน
2,795.40 ล้านบาท บริษัทฯ มีส่วนเกินมูลค่าหุ้นที่เกิดจากการจำหน่ายหุ้นให้กับผู้ถือหุ้น (ส่วนเกินทุน)
จำนวน 3,326.52 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อทำการปรับปรุงบัญชียอดสุทธิ (ส่วนเกินทุน)ของผู้ถือหุ้นที่ปรากฏ
ในงบการเงินของบริษัทฯ จึงยังมียอดสุทธิเป็นบวกจำนวน 1,411.47 ล้านบาท บริษัทฯ จึงหารือว่า
จำนวนเงินส่วนต่างในมูลค่าหุ้นของผู้ถือหุ้นที่นำไปหักจากผลขาดทุนสะสมจำนวน 2,795.40 ล้านบาท
ดังกล่าว ยังไม่ถือเป็นเงินได้ที่จะต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่ง
ประมวลรัษฎากร ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. เนื่องจากเงินส่วนเกินมูลค่าหุ้นเป็นรายการประเภทเดียวกันกับทุนของกิจการ การนำเงิน
ส่วนเกินมูลค่าหุ้นไปชดเชยผลขาดทุนสะสมทางบัญชีมิได้เป็นการก่อให้เกิดรายได้แก่บริษัทฯ กรณีจึงไม่อยู่
ในบังคับต้องเสียภาษีแต่อย่างใด
2. แม้บริษัทฯ จะได้นำเงินส่วนเกินมูลค่าหุ้นมาหักชดเชยผลขาดทุนสะสมทางบัญชีของบริษัทฯ
บริษัทฯ ยังคงมีสิทธิใช้ผลขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกินห้าปีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปัจจุบันซึ่งยังคงมีอยู่จริงก่อน
การนำเงินส่วนเกินมูลค่าหุ้นมาหักผลขาดทุน ไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ทั้งนี้ ตามมาตรา
65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 65/31995

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020