เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ./ก.984
วันที่: 31 กรกฎาคม 2545
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการออกใบกำกับภาษีเมื่อมีการโอนสิทธิการรับชำระค่าบริการ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/2(1), มาตรา 105(1), มาตรา 86 วรรคหนึ่ง
ข้อหารือ: การประปาส่วนภูมิภาคได้หารือกรมสรรพากรและกรมสรรพากรได้วินิจฉัยกรณี
ห้างหุ้นส่วนจำกัด บ. คู่สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างกับการประปาส่วนภูมิภาค ตามสัญญาลงวันที่ 25 สิงหาคม
2543 ได้โอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินตามสัญญาให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ย. และบริษัท ท. ว่าในการที่
การประปาส่วนภูมิภาคจ่ายเงินค่าจ้างเหมาก่อสร้าง ให้ห้างฯ และบริษัทฯ ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้อง ห้างฯ
บ. ในฐานะผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษี ตามมาตรา 86 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร
และเนื่องจากห้างฯ บ. ได้ยื่นฟ้องการประปาส่วนภูมิภาคต่อศาลปกครองกลาง ว่าการประปาส่วนภูมิภาค
ไม่จ่ายเงินค่าจ้างเหมาตามสัญญาดังกล่าว ทั้งที่ได้ออกใบกำกับภาษีเฉพาะในส่วนของบริษัท ท. ให้แล้ว
แต่ในส่วนของห้างฯ ย. ไม่สามารถออกใบกำกับภาษีให้ได้เพราะยังมีปัญหาตกลงกันไม่ได้
การประปาส่วนภูมิภาคจึงหารือว่า
1. สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างมิได้ระบุการแบ่งจ่ายเงินตามส่วนการรับโอนสิทธิเรียกร้องการรับ
เงินค่าก่อสร้าง การประปาส่วนภูมิภาคได้ทำเช็คสั่งจ่ายเงินค่างานงวดสุดท้ายให้ผู้รับโอนสิทธิฯ คือ ห้างฯ
ย. และบริษัท ท. จำนวน 1,051,025 บาท และ 535,169.72 บาท ตามลำดับ ถ้า ห้างฯ บ.
ออกใบกำกับภาษีเฉพาะส่วนที่เป็นของบริษัท ท. การประปาส่วนภูมิภาคจะจ่ายเงินจำนวน 535,169.72
บาท ให้บริษัทฯ ได้หรือไม่
2. ถ้าการประปาส่วนภูมิภาคจ่ายเงินจำนวน 1,051,025 บาท ให้ ห้างฯ ย. และห้างฯ
ออกใบรับเงินให้การประปาส่วนภูมิภาค แต่ ห้างฯ บ. ไม่ออกใบกำกับภาษีให้ การประปาส่วนภูมิภาคจะ
จ่ายเงินให้ห้างฯ ได้หรือไม่
3. การประปาส่วนภูมิภาคจะใช้ใบกำกับภาษีของ ห้างฯ บ. ตาม 1. และใบรับเงินของห้างฯ
ย. ตาม 2 เป็นหลักฐานในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้หรือไม่
4. กรณีผู้รับโอนสิทธิฯ มารับเงินไม่พร้อมกัน การประปาส่วนภูมิภาคจะขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
เพียงบางส่วนได้หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. ตาม 1. 2. และ 3. สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการให้บริการ
ตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร ห้างฯ บ. ในฐานะผู้ให้บริการซึ่งเป็นคู่สัญญากับ
การประปาส่วนภูมิภาคมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น
ไม่ว่าการประปาส่วนภูมิภาค ผู้รับบริการ จะได้จ่ายเงินค่าบริการตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างให้แก่ ห้างฯ
บ. ผู้ให้บริการ หรือได้จ่ายให้กับ ห้างฯ ย. หรือบริษัท ท. ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้าง
เหมาก่อสร้างจาก ห้างฯ บ. ห้างฯ บ. ในฐานะผู้ให้บริการตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างดังกล่าว มี
หน้าที่ออกใบรับตามมาตรา 105(1) แห่งประมวลรัษฎากร และออกใบกำกับภาษีตามมาตรา 86
วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่การประปาส่วนภูมิภาค โดยใช้ใบกำกับภาษีดังกล่าวเป็นหลักฐาน
ในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
การประปาส่วนภูมิภาคจะจ่ายเงินค่าจ้างเหมาก่อสร้างให้แก่บริษัทฯ และห้างฯ ในฐานะ
ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจาก ห้างฯ บ. ได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องการปฏิบัติตามสัญญาในทางแพ่งระหว่าง
คู่สัญญาและผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างและสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ซึ่งต้อง
พิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรมสรรพากรไม่มีอำนาจที่จะพิจารณา
2. ตาม 4. ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มต้องจัดทำใบกำกับภาษีสำหรับการ
ให้บริการทุกครั้งและทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 78/1 แห่ง
ประมวลรัษฎากร พร้อมทั้งส่งมอบใบกำกับภาษีนั้นแก่ผู้รับบริการ ตามมาตรา 86 วรรคหนึ่ง แห่ง
ประมวลรัษฎากร เมื่อการประปาส่วนภูมิภาคถูกเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการเมื่อความรับผิดใน
การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อใด การประปาส่วนภูมิภาคมีสิทธิใช้เป็นเครดิตภาษีในการคำนวณภาษี
หากมีเครดิตภาษีเหลืออยู่ก็มีสิทธินำไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนภาษีถัดไป หรือยื่นคำร้องเพื่อขอคืน
ภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามมาตรา 82/3 มาตรา 84 แห่งประมวลรัษฎากรและตามมาตรา 3 แห่ง
พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการนำเครดิตภาษีที่เหลืออยู่ในแต่ละ
เดือนภาษีไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 242) พ.ศ. 2534
เลขตู้: 65/31816


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020