เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ./ก.794
วันที่: 18 กรกฎาคม 2545
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการของสถานที่ตรวจสอบและบรรจุสินค้าเข้าคอนเทนเนอร์เพื่อการส่งออก
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/2, มาตรา 81(1)(ณ), คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.106/2544 ฯ
ข้อหารือ: บริษัทฯ ได้รับอนุมัติจากกรมศุลกากรให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป (คสท.)และเป็นสถานที่
ตรวจสอบและบรรจุสินค้าเข้าคอนเทนเนอร์เพื่อการส่งออก (สตส.) ประกอบกิจการภายใต้กฎหมาย
ศุลกากร และบริษัทฯ จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่ง
ประมวลรัษฎากร
การประกอบกิจการโดยส่วนใหญ่ของบริษัทฯ ตามใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่
1. ให้บริการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์
2. ให้บริการรับฝากและรักษาคุณภาพสินค้า
3. ให้บริการเกี่ยวกับคลังสินค้าทัณฑ์บนและพิธีการศุลกากร
4. ให้บริการตรวจสอบอุณหภูมิตู้คอนเทนเนอร์
และบริษัทฯ ได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือ สิ่งของ
ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ แบ่งเป็น 2 กรณี
1. กรณีขาเข้า
เป็นการลากตู้คอนเทนเนอร์จากท่าเรือมาที่ คสท. เพื่อดำเนินพิธีการศุลกากร หาก
ผู้ส่งออกยังไม่ส่งสินค้าออก ก็จะฝากเก็บไว้ที่คลังสินค้าของบริษัทฯ ก่อน หรือหากจะส่งออก ทันทีเลยก็
สามารถกระทำได้
รายได้ที่บริษัทฯ จัดเก็บกับผู้ส่งออกมีดังนี้
(1) ค่าขนส่งลากตู้คอนเทนเนอร์
(2) ค่าขนถ่ายสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์
(3) ค่าผ่านประตูท่าเรือ
(4) ค่ายกตู้คอนเทนเนอร์
(5) ค่ารับฝากสินค้าในคลังสินค้าทัณฑ์บน
2. กรณีขาออก
เป็นการลากตู้คอนเทนเนอร์จาก สตส. ไปส่งที่ท่าเรือ หลังจากดำเนินพิธีการศุลกากร
เรียบร้อยแล้ว
รายได้ที่บริษัทฯ จัดเก็บกับผู้ส่งออกมีดังนี้
(1) ค่าขนส่งลากตู้คอนเทนเนอร์
(2) ค่าบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์
(3) ค่าวัสดุที่ใช้ในการบรรจุสินค้า
(4) ค่าผ่านประตูท่าเรือ
(5) ค่ายกตู้คอนเทนเนอร์
(6) ค่ารับฝากสินค้า
(7) ค่าภาระท่าเรือ
ซึ่งบริษัทฯ จะให้เครดิตลูกค้าในการจ่ายชำระค่าขนส่งและบริการดังกล่าว โดยออกใบแจ้งหนี้ให้ ลูกค้า
และออกใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีเมื่อลูกค้าชำระเงิน
จึงขอทราบว่า
1. ค่าขนส่งลากตู้สินค้าขาเข้าและขาออกดังกล่าวข้างต้น ถือเป็นการให้บริการตาม
คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.106/2544 ฯ ลงวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2544 บริษัทฯ ต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มใช่หรือไม่
2. บริษัทฯ ได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว หากตามปัญหา
1 บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น บริษัทฯ มีสิทธิออกใบกำกับภาษีและเรียกเก็บ
ภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ใช้บริการได้ใช่หรือไม่
3. เดิมบริษัทฯ ประกอบกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รับ
ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หากรายได้ค่าขนส่งตามปัญหา 1 ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้กิจการของบริษัทฯ
เข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมด ดังนั้น บริษัทฯ ไม่ต้องเฉลี่ยภาษีซื้ออีกต่อไปใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย: กรณีบริษัทฯ ได้ให้บริการขาเข้าและขาออกกับลูกค้า โดยมีการเรียกเก็บค่าขนส่งลากตู้สินค้า
ขาเข้า (จากท่าเรือมาที่ คสท.) และขาออก (จาก สตส. ไปส่งที่ท่าเรือ) และค่าบริการประเภทอื่น
เช่น ค่ายกตู้คอนเทนเนอร์ ค่าขนถ่ายสินค้า ค่าบรรจุสินค้า ค่ารับฝากสินค้า ฯลฯ ให้ปฏิบัติดังนี้
1. บริษัทฯ ให้บริการขนส่งนอกบริเวณ คสท. หรือ สตส. หรือท่าเรือ โดยลากตู้
คอนเทนเนอร์จากท่าเรือมาที่ คสท. หรือจาก สตส. ไปส่งที่ท่าเรือ เข้าลักษณะเป็นการประกอบ
กิจการขนส่งในราชอาณาจักร ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร
2. บริษัทฯ ให้บริการในบริเวณ คสท. หรือ สตส. เช่น ให้บริการยกตู้คอนเทนเนอร์ขนถ่าย
สินค้า บรรจุสินค้า รับฝากสินค้า ฯลฯ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการ ตามมาตรา 77/1(10) แห่ง
ประมวลรัษฎากร บริษัทฯ อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
3. เนื่องจากบริษัทฯ ได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว ดังนั้น
ในการเรียกเก็บค่าบริการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตาม 2. บริษัทฯ มีสิทธิออก ใบกำกับภาษีและ
เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ใช้บริการได้
เลขตู้: 65/31802

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020