เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/ก.804
วันที่: 26 กรกฎาคม 2545
เรื่อง: ภาษีธุรกิจเฉพาะ การรับชำระหนี้ของสถาบันการเงิน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 91/5, มาตรา 91/8 วรรคสอง
ข้อหารือ: กรณีการรับชำระหนี้ของสถาบันการเงินซึ่งไม่สามารถติดต่อลูกหนี้ได้หรือลูกหนี้ไม่ให้
ความร่วมมือเจรจาการปรับโครงสร้างหนี้ และได้มีการดำเนินการจนได้รับชำระหนี้แต่ไม่ครบจำนวนหนี้ที่
ลูกหนี้มีอยู่กับสถาบันการเงิน ซึ่งตามแนวปฏิบัติของกรมสรรพากรต้องนำเงินที่ได้ไปชำระดอกเบี้ยก่อน
ทำให้สถาบันการเงินต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตราร้อยละ 3.3 สำหรับเงินที่เรียกเก็บได้ ทั้งๆ ที่
สถาบันการเงินได้รับชำระหนี้มาไม่ครบต้นเงินและยังมีผลการดำเนินการขาดทุนอยู่ ธนาคารจึงขอทราบ
ว่า
1. การได้รับชำระหนี้ของสถาบันการเงินดังกล่าวให้ถือว่าจำนวนเงินที่ได้รับเป็นการรับ
ชำระเงินต้นก่อนดอกเบี้ย ได้หรือไม่
2. กรณีที่เจ้าหนี้เป็นสถาบันการเงินสามารถรับรู้ดอกเบี้ยค้างรับเป็นรายได้เพียง 3 เดือนนับ
จากเริ่มค้างชำระดอกเบี้ย หากกรมสรรพากรจะให้นำเงินที่ได้รับชำระหนี้มาเฉลี่ยตามสัดส่วนต้นเงินและ
ดอกเบี้ย ธนาคารขอให้ใช้ตัวเลขตามบัญชีที่บันทึกไว้เป็นหลักฐานในการคำนวณ ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย: กรณีสถาบันการเงินใช้เกณฑ์เงินสดในการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ รายรับที่ต้องเสีย
ภาษีธุรกิจเฉพาะ ได้แก่ ค่าดอกเบี้ยที่ได้รับชำระจริงในแต่ละเดือนภาษี ทั้งนี้ตามมาตรา 91/5 และ
มาตรา 91/8 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อสถาบันการเงินได้รับชำระหนี้ค้างบางส่วนซึ่ง
เป็นทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยรวมกัน สถาบันการเงินมีสิทธินำเงินที่ได้รับชำระมาเฉลี่ยตามสัดส่วนระหว่าง
จำนวนเงินต้นและดอกเบี้ยของลูกหนี้นั้น แล้วนำดอกเบี้ยที่เฉลี่ยได้ดังกล่าวมาเสียภาษีธุรกิจเฉพาะใน
เดือนภาษีที่ได้รับชำระเงิน โดยดอกเบี้ยคงค้างที่จะนำมาเฉลี่ยเพื่อคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะ จะต้องนำ
ดอกเบี้ยในส่วนที่หยุดรับรู้รายได้จนถึงวันที่ได้รับชำระเงินมารวมคำนวณด้วย
เลขตู้: 65/31809

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020