เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/ก.950
วันที่: 29 กรกฎาคม 2545
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักภาษี ณ ที่จ่าย และการเครดิตเงินปันผล
ข้อกฎหมาย: มาตรา 47 ทวิ
ข้อหารือ: บริษัท ม. แจ้งว่า ลูกค้าของบริษัทฯ เป็นนิติบุคคลที่ถือหุ้นในบริษัทซึ่งได้รับอนุญาตให้
ประกอบกิจการประกันภัย ทั้งประกันชีวิตและประกันวินาศภัย นิติบุคคลดังกล่าวจะต้องแยกธุรกิจ
ประกันชีวิตและธุรกิจประกันภัยออกจากกันตามกฎหมาย ทำให้นิติบุคคลที่ถือหุ้นในบริษัทประกันภัยได้รับหุ้น
จากบริษัทประกันวินาศภัยที่จัดตั้งขึ้นใหม่ตามอัตราส่วนการถือหุ้นในบริษัทเดิมลูกค้าของบริษัทฯ มี
รอบระยะเวลาบัญชีตามปีปฏิทิน สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2544 ลูกค้าของบริษัทฯ มีกำไรสะสม ณ
วันที่ 31 ธันวาคม 2544 รวม 104,100,512 บาท ในการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นประจำปี 2544 บริษัทฯ
ลูกค้ามีมติของที่ประชุมใหญ่ให้ประกาศจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นตามจำนวนหุ้นที่ถือรวมเป็นเงิน
85,651,855 บาท ลูกค้าของบริษัทฯ ไม่มีมติพิเศษให้เพิ่มหรือลดทุนแต่อย่างใด จึงขอทราบว่า
1. กรณีลูกค้าของบริษัทฯ จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา ลูกค้าของบริษัทฯ
มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่ อย่างไร
2. ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ลูกค้าซึ่งได้รับเงินปันผลตาม 1. จะมีสิทธิเครดิตเงินปันผลใน
การคำนวณภาษีหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. เงินปันผลเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร และ
เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น ลูกค้าของบริษัทฯ
ผู้จ่ายเงินได้ดังกล่าวให้แก่ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ
10.0 ของเงินได้ดังกล่าวตามมาตรา 50(2)(จ) แห่งประมวลรัษฎากร
2. ผู้มีเงินได้ตาม 1. ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยจะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10.0
ของเงินได้โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ก็ได้ตามมาตรา 48(3) วรรคสอง แห่ง
ประมวลรัษฎากร หากผู้มีเงินได้เลือกนำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีก็มีสิทธิได้รับเครดิตภาษีตาม
มาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 65/31813


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020