เลขที่หนังสือ | : กค 0811/ก.799 |
วันที่ | : 18 กรกฎาคม 2545 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้ของนักแสดงสาธารณะ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 41 วรรคหนึ่ง, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.102/2544 ฯ |
ข้อหารือ | : กรณีบริษัท S ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับอนุญาตให้เข้ามาถ่ายทำเกมโชว์ทางโทรทัศน์ใน ประเทศไทยระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2545 ซึ่งจะนำออกอากาศในหลาย ๆ ประเทศ โดยมี ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. เป็นผู้ประสานงานในประเทศไทย ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดซื้อ จัดจ้าง การจัดการ ทางการเงินและภาษีอากรในประเทศไทย บริษัท S.E.G.,Inc ได้มอบหมายให้ Miss A.และ Miss B.เข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท A ตามกฎหมายไทยให้เป็นผู้ดำเนินการในการถ่ายทำเกมส์ดังกล่าว มีผู้ เข้าร่วมแข่งขันซึ่งได้คัดเลือกจากผู้สมัครที่มาจากหลากหลายอาชีพ จำนวนประมาณ 16,000 คน คัด เหลือ 16 คน มาเข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งแต่ละคนทำสัญญาในการเข้าแข่งขันไว้กับบริษัท S โดยแบ่งผู้แข่งขัน ออกเป็น 2 กลุ่ม ๆ ละ 8 คน ส่งเข้าไปอยู่ในพื้นที่ป่าที่กำหนด ไม่ให้พบปะผู้คนและไม่มีอุปกรณ์อื่น นอกจากสิ่งยังชีพที่จำเป็น มีการถ่ายพฤติกรรมผู้เข้าแข่งขันโดยไม่ให้รู้ตัว นำผลงานต่าง ๆ มาประเมิน ผลทุก 4 - 5 วัน เพื่อคัดเลือกผู้ที่อ่อนด้อยที่สุดออกจากทีม ๆ ละ 1 คน จนเหลือ 1 คู่สุดท้าย และ ลงคะแนนเสียงให้มีผู้ชนะเลิศเพียง 1 คน ได้รับรางวัล 1,000,000 เหรียญสหรัฐ การถ่ายทำแม้จะ ไม่มีสคริปต์ แต่ก็จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่ตลอดเวลา เพราะอาจมีอุบัติเหตุหรืออันตราย เกิดขึ้นได้และต้องมีการประกันชีวิตให้ด้วย รวมทั้งต้องใช้ฟิล์มในการถ่ายทำหลายร้อยม้วน แล้วจึงนำมา ตัดต่อทำนองเดียวกับการถ่ายทำภาพยนตร์ ซึ่งกรณีดังกล่าวจะต่างกับเกมโชว์ในประเทศไทย ซึ่งอาจจะ เป็นการแสดงสด หรือเทปสั้น ๆ ไม่ยาวต่อเนื่อง หรือการแข่งขันชิงเงินรางวัลของรายการต่าง ๆ ซึ่ง ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการแข่งขันในทางความรู้ และผู้เข้าแข่งขันจะเป็นอิสระหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นต้อง รับผิดชอบตัวเอง การถ่ายทำจะถ่ายทำในประเทศไทยประมาณร้อยละ 80 และคัดผู้เข้าแข่งขันจนเหลือผู้ เข้ารอบ 4 คน และจะไปถ่ายทำต่อ ณ ประเทศอื่นจนจบ จนเหลือผู้ชนะเพียง 1 คน ซึ่งจะทราบผล ประมาณเดือนธันวาคม 2545 นี้ การจ่ายเงินจะจ่าย ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยการถ่ายทำใน ประเทศไทยจะเสร็จ และผู้เข้าร่วมแข่งขันจะเดินทางออกจากประเทศไทย ประมาณวันที่ 20 กรกฎาคม 2545 สำนักงานสรรพากรจังหวัดจึงหารือเพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติ ดังนี้ 1. ผู้เข้าร่วมแข่งขันทั้ง 16 คน เป็นนักแสดงสาธารณะตามคำนิยามในข้อ 2(3) ของ กฎกระทรวงฉบับที่ 144 (พ.ศ. 2522) และมีหน้าที่ต้องขอรับใบผ่านภาษีอากรก่อนออกเดินทาง ออกจากประเทศไทย ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดให้คนต่างด้าวผู้เดินทางออกจาก ประเทศไทยไม่ต้องขอรับใบผ่านภาษีอากร ลงวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2541 ใช่หรือไม่ 2. หากเป็นนักแสดงสาธารณะ บริษัท S โดยบริษัท A มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตามข้อ 9(2)(ก) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ใช่หรือไม่ 3. การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของนักแสดงสาธารณะตาม 1 ซึ่งยังไม่ ทราบว่าผู้ใด เป็นผู้ชนะเลิศและได้รับรางวัล 1,000,000 เหรียญสหรัฐ จะให้ผู้ใดเป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการและใน การยื่นคำร้องขอรับใบผ่านภาษีอากร จะให้บริษัท S โดยบริษัท A จัดหาผู้ค้ำประกัน หรือหลักประกันและ วางค้ำประกันสำหรับความรับผิดค่าภาษีอากรที่อาจเกิดขึ้นได้หรือไม่ 4. การคำนวณเงินได้ที่ได้รับจากการเล่นเกมส์จะคำนวณโดยใช้ผลงานการถ่ายทำใน ประเทศไทย ร้อยละ 80 ของเงินรางวัล 1,000,000 เหรียญสหรัฐ ได้หรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : 1. ผู้เข้าร่วมแข่งขันทั้ง 16 คน เข้าลักษณะเป็นนักแสดงสาธารณะ ตามคำนิยาม นักแสดง สาธารณะตามข้อ 2(3) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 144 (พ.ศ. 2522)ฯ ข้อ 9 ของคำสั่ง กรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่ง ประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 และข้อ 1 ของ คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.102/2544 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มของนักแสดง สาธารณะผู้จัดให้มีการแสดงของนักแสดงสาธารณะและคู่สัญญาที่จัดหานักแสดงสาธารณะมาแสดง ลงวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2544 ดังนั้น ผู้เข้าร่วมแข่งขันทั้ง 16 คน ซึ่งได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร จึงมี หน้าที่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 48(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ไม่ว่าการจ่ายเงินได้ดังกล่าวจะจ่ายในหรือนอก ประเทศไทย และนักแสดงสาธารณะซึ่งเป็น คนต่างด้าวดังกล่าวมีหน้าที่ต้องยื่นคำร้องเพื่อขอรับ ใบผ่านภาษีอากรภายในกำหนดก่อนเดินทาง ออกจากประเทศไทย ตามมาตรา 4 ตรี แห่ง ประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดให้คนต่างด้าวผู้เดินทางออกจาก ประเทศไทย ไม่ต้องขอรับใบผ่านภาษีอากร ลงวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2541 โดยให้ ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่หัก ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย นำส่งตามอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ ตามข้อ 9(2) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่ง ประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งกรมสรรพากร ได้วางแนวทางปฏิบัติสำหรับการเสียภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มของนักแสดงสาธารณะไว้ตามข้อ 2 ข้อ 5 ข้อ 6 และข้อ 7(2)(ข) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.102/2544 ฯ ลงวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2544 2. กรณีเป็นการถ่ายทำในประเทศไทย ถือได้ว่าเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้จาก หน้าที่งานที่ ทำในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากยัง ไม่ทราบว่าผู้ใดใน 4 คนที่เหลือจะเป็นผู้ได้รับเงินจำนวน 1,000,000 เหรียญสหรัฐ ในการยื่นคำร้อง ขอรับ ใบผ่านภาษีอากรของบุคคลดังกล่าว ให้ผู้มีหน้าที่ร่วมรับผิดชอบในการถ่ายทำ ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. ซึ่งเป็นผู้ประสานงานการถ่ายทำเกมโชว์ดังกล่าว และมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยเป็นผู้ค้ำประกันหรือจัดหา ผู้ค้ำประกันหรือหลักประกันสำหรับภาระภาษีที่จะมีขึ้น |
เลขตู้ | : 65/31803 |