เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/5815
วันที่: 28 มิถุนายน 2545
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งผู้มีเงินได้เป็นบุคคลล้มละลาย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย, มาตรา 1236, มาตรา 1249 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ข้อหารือ: กรณีการขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายของบุคคลล้มละลาย สืบเนื่องมาจากรัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงการคลังได้มีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการของสถาบันการเงินจำนวน 58 แห่ง เมื่อปี พ.ศ.
2540 ซึ่งต่อมามีสถาบันการเงินที่แผนการฟื้นฟูกิจการไม่ได้รับความเห็นชอบ จำนวน 56 แห่ง และ
สถาบันการเงินดังกล่าวได้ถูกนำเข้าสู่กระบวนการล้มละลายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมาและ
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดีได้ดำเนินการในชั้นล้มละลายกับสถาบันการเงินดังกล่าว บางส่วน
ซึ่งถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว โดยจะต้องดำเนินการรวบรวมทรัพย์สินต่าง ๆ ของผู้ล้มละลาย เพื่อชำระ
หนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็ว ซึ่งในการรวบรวมทรัพย์สินปรากฏว่า สถาบันการเงินดังกล่าวมีเงินภาษี
ที่จะต้องขอรับคืนจากกรมสรรพากรเพื่อรวบรวมจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงได้มีหนังสือ
ขอรับภาษีดังกล่าวคืนจากกรมสรรพากร แต่ได้รับแจ้งว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์จะต้องขอรับภาษีคืนตามแบบ
ค.10 พร้อมส่งงบดุลที่ผู้สอบบัญชีรับรองประกอบตามระเบียบของกรมสรรพากร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
จึงหารือ ดังนี้
1. ในกรณีที่นิติบุคคลล้มละลายแล้วถือว่า นิติบุคคลนั้นเป็นอันเลิกกันตาม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1236 และตามมาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย
พุทธศักราช 2483 ระบุว่าเมื่อศาลพิพากษาให้บุคคลล้มละลาย การล้มละลายมีผลตั้งแต่วันพิทักษ์ทรัพย์
เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีความเห็นว่าเมื่อนิติบุคคลล้มละลายแล้ว จึงไม่ใช่กรณีที่จะต้องจัดทำ
งบดุลอีกด้วยเหตุผลข้างต้น
2. ในกรณีภาษีที่ผู้ล้มละลายมีสิทธิขอรับคืนเป็นภาษีหัก ณ ที่จ่ายทั้งหมด ทั้งในปีภาษีก่อน
พิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้ล้มละลายยังมิได้ขอรับคืน และในปีภาษีหลังพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้อง
เข้ามาดำเนินการแทนทั้งหมดนั้น เนื่องจากมีข้อขัดข้องเกี่ยวกับการจัดทำงบดุลในช่วงก่อนพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่ง
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังไม่ได้เข้าจัดการทรัพย์สิน และข้อขัดข้องในการติดต่อหาผู้สอบบัญชีรับอนุญาต
ตรวจสอบและรับรองงบดุลดังกล่าวเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงขอให้อธิบดีกรมสรรพากรพิจารณาใช้อำนาจ
ตามระเบียบกรมสรรพากรเกี่ยวกับการคืนภาษีในข้อ 13 พิจารณาสั่งให้คืนเงินภาษีโดยไม่ต้องตรวจ
เอกสารโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขอนำส่งหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายประกอบการขอรับคืน
ภาษีได้หรือไม่ และในกรณีที่ยังไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายหลังจากศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วนั้น
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขอให้อธิบดีกรมสรรพากรพิจารณาสั่งระงับการหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับ
ผู้มีเงินได้ที่เป็นบุคคลล้มละลายได้หรือไม่ ซึ่งหากกระทำได้จะเป็นการลดภาระของเจ้าหน้าที่กรสรรพากร
ในการตรวจเอกสาร และเป็นประโยชน์ต่อการจัดการทรัพย์สินของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อย่างยิ่ง
3. ในกรณีที่กรมสรรพากรยืนยันว่าการขอรับภาษีคืนจะต้องยื่นแบบ ค.10 พร้อมแนบงบดุลที่
ผู้สอบบัญชีรับรอง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอทราบว่าจะต้องปฏิบัติตลอดไป แม้ปีภาษีภายหลังพิทักษ์ทรัพย์
หรือไม่หรือคงปฏิบัติจนถึงวันพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น หากปฏิบัติถึงเพียงวันพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
จะต้องปฏิบัติอย่างไรในการขอรับเงินภาษีภายหลังพิทักษ์ทรัพย์คืน
แนววินิจฉัย: 1. ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 62 บัญญัติว่า "การล้มละลายของลูกหนี้ เริ่มต้นมี
ผลตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิทักษ์ทรัพย์" เป็นเรื่องผลเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้และการดำเนินการ
ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยเฉพาะมิได้มีผลให้สถานะบุคคลของลูกหนี้เปลี่ยนเป็นบุคคลล้มละลาย ตั้งแต่
วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ไปด้วย คำว่า "ล้มละลาย"ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา
1236(5) ซึ่งมีผลให้บริษัทจำกัดเลิกกันจึงหมายถึง เมื่อศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว การที่ศาลมี
คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดยังถือไม่ได้ว่าบริษัทล้มละลาย ดังนั้น บริษัทฯ ยังคงมีหน้าที่ต้องจัดทำงบดุลต่อไป
แม้ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว
2. กรณีการขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยขอไม่ยื่นงบดุล และเอกสารหลักฐานต่าง ๆ โดยจะ
ขอนำส่งหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ประกอบกับแบบขอคืนภาษี ทั้งนี้ โดยอาศัยอำนาจอธิบดีตาม
ระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการคืนเงินภาษีอากร พ.ศ. 2539 ข้อ 13.3 นั้น เนื่องจากกรณี
ดังกล่าวเป็นการขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่าย ของสถาบันการเงินหนึ่งในจำนวน 58 แห่งที่รัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงการคลังได้มีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการ จึงเห็นว่าการพิจารณาคืนเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายใน
กรณีดังกล่าวมีความจำเป็นต้องตรวจสอบบัญชีเอกสารหลักฐานต่าง ๆ รวมถึงงบดุลที่ผู้สอบบัญชีรับรองซึ่ง
เป็นรายการที่จำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีด้วยและกรณีข้อขัดข้องเรื่องการติดต่อหา
ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบบัญชีรับรองงบดุล ตามข้อกล่าวอ้างของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ยังถือไม่ได้
ว่าเป็นเหตุให้บริษัทไม่ต้องทำงบดุล งบกำไรขาดทุนเพื่อยื่นต่อกรมสรรพากรพร้อมกับแบบแสดงรายการ
ภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50)
นอกจากนั้น การหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นกรณีกฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้จ่ายเงินได้
พึงประเมินต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายแก่ผู้รับเงินได้พึงประเมิน อธิบดีกรมสรรพากรไม่มีอำนาจสั่งระงับการหัก
ภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับผู้มีเงินได้ที่เป็นบุคคลล้มละลายแต่อย่างใด
3. การจัดทำงบดุลที่ผู้สอบบัญชีรับรองเพื่อประกอบแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.50
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องปฏิบัติตลอดไปจนกว่าสถาบันการเงินดังกล่าวจะได้จดทะเบียนเสร็จการ
ชำระบัญชีซึ่งถือได้ว่าสถาบันการเงินมิได้มีสภาพการคงอยู่ต่อไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1249
เลขตู้: 65/31764


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020