เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811(กม.06)/913
วันที่: 27 มิถุนายน 2545
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายจากการเลิกสัญญา
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65(13)
ข้อหารือ: 1. บริษัท ซ. เป็นผู้ประกอบกิจการผลิตน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ ในเดือนสิงหาคม 2544
บริษัท ซ. ได้โอนกิจการซึ่งรวมถึงสินทรัพย์ หนี้สิน และสัญญาทั้งหมดให้แก่บริษัท อ. โดยหนึ่งในสัญญาที่
โอนให้คือ สัญญาการจัดหาสินค้าและวัตถุดิบระหว่างบริษัท ซ. กับบริษัท ล. ซึ่งตามข้อตกลงของสัญญา
ดังกล่าว บริษัท ล. ตกลงจัดหาสินค้าและวัตถุดิบ ให้แก่บริษัท ซ.
2. วัตถุประสงค์หลักในการรวมบริษัท ซ. เข้ากับบริษัท อ. เพื่อประหยัดต้นทุนการดำเนิน
ธุรกิจจากการจัดการกระบวนการต่าง ๆ ทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพและยืดหยุ่นมากขึ้น บริษัท อ. จึงได้
ทบทวนข้อตกลงในสัญญาจัดหาวัตถุดิบทั้งหมด และเห็นว่า บริษัท อ. จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและ
ความยืดหยุ่นในการจัดกระบวนการต่าง ๆ ทางธุรกิจได้มากขึ้น หากบริษัท อ. ใช้ผู้จัดหาวัตถุดิบที่จำเป็น
ในการผลิตน้ำมันหล่อลื่นนอกเหนือจากบริษัท ล.
3. เนื่องจากสัญญาจัดหาสินค้าและวัตถุดิบดังกล่าวมิได้มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการยกเลิกสัญญาและ
ผลการยกเลิกสัญญาไว้ บริษัท อ. จึงขอเจรจาเพื่อเลิกสัญญาฉบับดังกล่าว ซึ่งผลการเจรจาปรากฏว่า
บริษัท ล. และบริษัท อ. ตกลงเลิกสัญญา ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2544 โดยบริษัท อ. ตกลงจ่ายเงิน
จำนวน 190 ล้านบาท ให้แก่บริษัท ล. เพื่อชดเชยการเลิกสัญญาดังกล่าว
4. จากการพิจารณาสัญญาจัดหาสินค้าและวัตถุดิบ ซึ่งบริษัท อ. ได้ส่งมาประกอบการพิจารณา
สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
4.1 บริษัท ล. ตกลงหาแหล่งสินค้า และจัดหาสินค้าและวัตถุดิบ ตามความต้องการของ
บริษัท ซ. เพื่อใช้ในการผลิตน้ำมันหล่อลื่นสำเร็จรูปตามสัญญาการให้สิทธิ โดยในการหาแหล่งสินค้าและ
การจัดหาสินค้าจะกระทำต่อเมื่อได้รับคำบอกกล่าวจากบริษัท ซ. เป็นครั้งคราวไป
4.2 บริษัท ซ. จะต้องทำคำสั่งซื้อสินค้าไปยังบริษัท ล. เป็นการล่วงหน้าอย่างน้อย 15
วัน ทั้งนี้ คำสั่งซื้อสินค้าจะไม่ผูกพันบริษัท ล. จนกว่าคำสั่งซื้อสินค้านั้นจะได้มีการยอมรับและยืนยันเป็น
ลายลักษณ์อักษรจากบริษัท ล. ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียวว่าจะยอมรับหรือปฏิเสธ
คำสั่งซื้อดังกล่าว
4.3 ราคาซื้อขายสินค้าและข้อกำหนดของการขายให้เป็นไปตามความตกลงของคู่สัญญา
ทั้งสองฝ่ายเป็นครั้งคราวไปตามการซื้อขายแต่ละครั้ง และในแต่ละปีปฏิทิน บริษัท ล. จะได้รับส่วนต่าง
ของยอดขายรวมในจำนวนที่ไม่เกินลิตรละ 60 สตางค์ของน้ำมันหล่อลื่นสำเร็จรูปทั้งหมดที่ผลิตได้
4.4 นิติสัมพันธ์ระหว่างบริษัท ล. และบริษัท ซ. ภายใต้สัญญานี้เป็นเพียง ผู้ซื้อและผู้ขาย
เท่านั้น คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายไม่อาจถูกถือว่าเป็นตัวแทนหรือผู้แทนของแต่ละฝ่ายได้ เว้นแต่จะได้มี
การมอบอำนาจจากคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นลายลักษณ์อักษร โดยชัดแจ้งเท่านั้นที่สามารถก่อให้เกิดภาระ
ผูกพันหรือความรับผิดชอบใด ๆ ในนามคู่สัญญาอีก ฝ่ายหนึ่งนั้นได้
5. จากการตรวจสอบรายการในหนังสือรับรอง และ ภ.ง.ด.50 ของบริษัท อ. บริษัท ล.
และบริษัท ซ. พบว่า
(1) กรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัท อ. คือ นาย ก. หรือนาย ข. หรือนาย ค.
ลงลายมือชื่อร่วมกับนาย ง. หรือนาย จ. หรือนาย ฉ. หรือนาง ช. รวมเป็นสองคนและประทับตรา
สำคัญของบริษัท อ.
(2) กรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัท ซ. คือ นาย ก. หรือนาย ข. หรือนาย ค.
ลงลายมือชื่อร่วมกับนาย ง. หรือนาย จ. หรือนาย ฉ. รวมเป็นสองคนและประทับตราสำคัญของบริษัท ซ.
(3) กรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัท ล. คือ นาย ก. นาย ค. นาย ส. นาย ม. นาย
น. และนาย ศ. สองในหกคนนี้ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัท ล.
(4) บริษัท อ. ประกอบกิจการมีกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม
2543 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2543 จำนวน 539,081,357.79 บาท
(5) บริษัท ซ. ประกอบกิจการมีกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม
2543 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2543 จำนวน 173,513,515.10 บาท
(6) บริษัท ล. ประกอบกิจการมีผลขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1
มกราคม 2543 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2543 จำนวน 4,887,180,563.04 บาท
(7) บริษัท ซ. และบริษัท ล. เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกันกับบริษัท อ. ทั้งนี้ ปรากฏตาม
หมายเหตุประกอบงบการเงินของบริษัท อ.
6. บริษัท อ. หารือว่า เงินชดเชยค่าเสียหายจากการเลิกสัญญาจำนวน 190 ล้านบาท
บริษัท อ. สามารถนำมาถือเป็นรายจ่ายทั้งจำนวนในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลใน
รอบระยะเวลาบัญชีที่เลิกสัญญาได้หรือไม่
แนววินิจฉัย: เนื่องจากสัญญาจัดหาสินค้าและวัตถุดิบตามข้อเท็จจริงข้างต้นไม่มีข้อกำหนดให้บริษัท อ. จ่าย
เงินชดเชยหากมีการเลิกสัญญา หรือเปลี่ยนคู่สัญญา ดังนั้น การจ่ายเงินชดเชยจำนวน 190 ล้านบาท
ของบริษัท อ. ให้แก่บริษัท ล. จึงเป็นการกระทำโดยสมัครใจของบริษัท อ. เอง กรณีดังกล่าว จึงไม่
เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ บริษัท อ. จึงไม่สามารถนำเงินชดเชย
จำนวนดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่ง
ประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 65/31759

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020