กฎกระทรวง
ฉบับที่ 129 (พ.ศ. 2512)
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยอากรแสตมป์และอากรมหรสพ
---------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2496 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิก
(1) กฎกระทรวง ฉบับที่ 80 (พ.ศ. 2496) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยอากรแสตมป์
(2) กฎกระทรวง ฉบับที่ 84 (พ.ศ. 2496) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยอากรมหรสพ
ข้อ 2 การชำระเงินเพิ่มอากรที่ให้ถือว่าเป็นอันคุ้มบุคคลมิให้ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอากรตามมาตรา 3 ตรี สำหรับอากรแสตมป์และอากรมหรสพให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้
ข้อ 3 บุคคลที่ต้องเสียเงินเพิ่มอากรจะต้องทำคำร้องเป็นหนังสือยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ชี้แจงเหตุผลที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติหมวด 6 และหมวด 7 ลักษณะ 2 โดยสุจริตมิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงอากรและยินยอมชำระเงินเพิ่มอากรภายในสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะพิจารณาตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) กรณีตราสารได้ปิดแสตมป์แล้วแต่มิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์เสียร้อยละ 20 ของเงินเพิ่มอากรที่กำหนดไว้ในมาตรา 113 หรือมาตรา 114
(2) กรณีตราสารมิได้ปิดแสตมป์ เสียร้อยละ 25 ของเงินเพิ่มอากรที่กำหนดไว้ในมาตรา 113 หรือมาตรา 114
(3) กรณีมิได้ออกใบรับตามมาตรา 105 เสียร้อยละ 50 ของเงินเพิ่มอากรที่กำหนดไว้ในมาตรา 114
(4) กรณีเจ้าของมหรสพเริ่มกระทำกิจการใหม่ และไม่เคยถูกเรียกเงินเพิ่มอากร เสียร้อยละ 20 ของเงินเพิ่มอากรที่กำหนดไว้ในมาตรา 138 ทวิ หรือมาตรา 140
(5) กรณีนอกจาก (4) เสียร้อยละ 25 ของเงินเพิ่มอากรที่กำหนดไว้ในมาตรา 138 ทวิ หรือมาตรา 140 ทวิ
ทั้งนี้ เว้นแต่อธิบดีกรมสรรพากรจะพิจารณาอนุมัติ ให้เสียเงินเพิ่มอากรน้อยกว่า (1) ถึง (5) แต่ต้งไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินอากรโดยเริ่มนับแต่วันที่ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์หรือวันที่ต้องเสียอากรมหรสพ
ให้ไว้ ณ วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2512
ส. วินิจฉัยกุล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
-------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากหลักเกณฑ์ในการลดเงินเพิ่มอากรแสตมป์ และอากรมหรสพ ที่ใช้อยู่ในขณะนี้ยังไม่เหมาะสม จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติม จึงต้องออกกฎกระทรวงฉบับนี้
(ร.จ. เล่ม 86 ตอนที่ 25 วันที่ 25 มีนาคม 2512)