เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811(กม.07)/712
วันที่: 14 มิถุนายน 2545
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการขออนุมัติเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 5
ข้อกฎหมาย: มาตรา 66 วรรคสอง, มาตรา 76 ทวิ, มาตรา 65 ทวิ, มาตรา 65 ตรี
ข้อหารือ: ข้อหารือกรณีการไม่อนุมัติให้บริษัทฯ เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 5 ของยอด
รายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ หรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา
71(1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯ ให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ดังนี้
1. ธุรกิจหลักของบริษัทฯ คือ การขนส่งระหว่างประเทศที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากรายรับ
ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ดังนั้น การจะกำหนดค่าใช้จ่ายสำหรับกิจการอื่น ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ กิจการ
ขนส่งจึงไม่อาจกระทำได้
2. จากเหตุผลตาม (1) บริษัทฯ จึงเลือกที่จะชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 5
จากรายได้รวมของกิจการอื่น ๆ แทนที่จะชำระในอัตราร้อยละ 3 ตามอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของ
กิจการขนส่งระหว่างประเทศ
3. กรณีที่เจ้าพนักงานประเมินไม่สามารถคำนวณภาษีได้เนื่องจากขาดหลักฐานก็มีอำนาจ
ประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักค่าใช้จ่ายใด ๆ ดังนั้น เมื่อ บริษัทฯ ไม่อาจ
คำนวณกำไรสุทธิจากรายได้อื่น ๆ หลักการเดียวกันก็ควรจะนำมาใช้ในการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลของ
รายได้อื่น ๆ ของบริษัทฯ ได้ด้วย
แนววินิจฉัย: บริษัทฯ เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนตามกฎหมายต่างประเทศ กระทำกิจการขนส่งผ่านประเทศ
ต่าง ๆ และมีรายได้ประเภทอื่นจากการให้บริการซ่อมแซมและบำรุงรักษาเครื่องบินโดยสารของ
สายการบินอื่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่าเครื่องดื่มของพนักงาน ซึ่งไม่เข้าลักษณะเป็นรายได้จากกิจการ
ขนส่ง ดังนั้น รายได้ดังกล่าวจึงไม่ใช่ส่วนหนึ่งของรายได้จากกิจการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ
หากแต่ถือเป็นกำไรจากธุรกิจ ฉะนั้น เมื่อสาขาในประเทศไทยของบริษัทฯ เป็นผู้ให้บริการลูกค้า จึงถือ
เป็นกรณีที่บริษัทฯ ให้บริการผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย ตามข้อ 5 วรรค 2 แห่ง
อนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนฯ สาขา
ในประเทศไทยจึงต้องนำรายได้ดังกล่าวมารวมคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา
ร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิทั้งนี้ ตามมาตรา 66 วรรคสอง และมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
และข้อ 7 วรรค 1 แห่งอนุสัญญาฯ ดังกล่าว
การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทฯ ให้คำนวณจากรายได้จากกิจการ
หรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65
ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร กรณีบริษัทฯ มีปัญหาในการเฉลี่ยรายจ่ายระหว่างรายได้
จากกิจการขนส่งและรายได้ประเภทอื่น โดยไม่มีหลักฐานที่จะนำมาพิสูจน์รายจ่ายได้ หาก
เจ้าพนักงานประเมินทำการตรวจสอบและประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล รายจ่ายที่เกิดขึ้นให้ถือเป็น
รายจ่ายต้องห้ามทั้งหมดตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร แล้วจึงนำมาถือเป็นรายจ่ายได้ตาม
หลักเกณฑ์ข้อ 5 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.13/2529 ฯ ลงวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2529 ซึ่งแก้ไข
เพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.21/2531 ฯ ลงวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2531 กรณียังไม่มี
เหตุอันควรอนุมัติให้บริษัทฯ เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ
หรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากร
และ คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.78/2541 เรื่อง ขอบเขตการใช้อำนาจตามมาตรา 71(1) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2541
เลขตู้: 65/31578


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020