เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/5016
วันที่: 4 มิถุนายน 2545
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการชำระค่าบริการวงจรความเร็วสูงระหว่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(8), มาตรา 70
ข้อหารือ: 1. บริษัทฯ เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ประกอบธุรกิจให้บริการอินเตอร์เน็ตแก่
ผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตในประเทศไทยโดยได้รับอนุญาตจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.)
ตามสัญญาดำเนินการให้บริการอินเตอร์เน็ตระหว่างบริษัทฯ กับ กสท.กำหนดให้การ
ให้บริการดังกล่าว บริษัทฯ จะต้องเช่าข่ายบริการโทรคมนาคมของ กสท. หรือของหน่วยงานอื่นที่ กสท.
อนุญาตให้เช่าเท่านั้น ทั้งนี้ ในการให้บริการอินเตอร์เน็ตนั้น เป็นการให้บริการเชื่อมโยงระบบ
คอมพิวเตอร์ของผู้ใช้บริการกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในเชิงพาณิชย์เพื่อการติดต่อและใช้ระบบสารสนเทศ
ร่วมกันเฉพาะบริการการรับส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) การอ่านและบันทึกลงแผงข่าวและการ
ประยุกต์ใช้งานบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต อาทิเช่น การเข้าถึงศูนย์คอมพิวเตอร์ที่ห่างไกล การโอนแฟ้ม
ข้อมูลจากเครื่องอื่น ๆ บนเครือข่าย การท่องไปในเครือข่ายด้วยโปรแกรมสืบค้นข้อมูลประเภทต่าง ๆ
รวมถึงการโต้ตอบ (Interactive) กับผู้ใช้เครือข่ายรายอื่น ๆ ที่กระทำลักษณะของข้อความเท่านั้น
2. ในการเช่าข่ายบริการโทรคมนาคมตามข้อ 1. บริษัทฯ ในฐานะผู้เช่าได้ทำสัญญาเช่าใช้
บริการวงจรระหว่างประเทศความเร็วสูงกับ กสท. ผู้ให้เช่า จำนวน 2 ฉบับ เพื่อใช้ในการให้บริการ
อินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ โดยใช้ติดต่อระหว่างกรุงเทพฯ ประเทศไทยกับ
สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการเช่าใช้วงจรระหว่างประเทศความเร็วสูงด้วยเครื่องอุปกรณ์สื่อสาร โดย
กสท.จะเป็นผู้จัดหาคู่สายเคเบิลหรือวงจรเชื่อมโยงให้แก่บริษัทฯ เพื่อใช้ระหว่างสำนักงานของบริษัทฯ
กับสำนักงานปฏิบัติการกลางของ กสท. ทั้งนี้ บริษัทฯ ตกลงจ่ายเงินค่าเช่าใช้บริการตามสัญญาให้แก่
กสท. เป็นรายเดือนตลอดอายุของสัญญา
3. ในการดำเนินการให้บริการอินเตอร์เน็ตของบริษัทฯ เพื่อให้ผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตใน
ประเทศไทยสามารถติดต่อเชื่อมโยงและเข้าถึงศูนย์คอมพิวเตอร์ที่ห่างไกล หรือสามารถท่องไปใน เครือ
ข่ายอินเตอร์เน็ตอื่น ๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในประเทศสหรัฐอเมริกาได้นั้น บริษัทฯ
ได้ทำสัญญากับบริษัทให้บริการอินเตอร์เน็ต จำนวน 2 ราย คือ บริษัท A และกับบริษัท B ซึ่งเป็น
นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาและไม่มีสถานประกอบการ หรือตัวแทนใน
ประเทศไทย โดยบริษัทฯ ในฐานะผู้รับบริการได้ลงนามสัญญาดังกล่าวในประเทศไทยและส่งไปให้ A
และ B ลงนามที่ประเทศสหรัฐอเมริกาแล้วจึงส่งสัญญากลับมาที่บริษัทฯ
4. สัญญาระหว่างบริษัทฯ กับ A และ B ตามข้อ 3. มีสาระสำคัญสรุปได้ว่าเป็นกรณีที่ A
และ B ตกลงหรืออนุญาตให้บริษัทฯ สามารถเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของตนซึ่งเป็นผู้
ให้บริการอินเตอร์เน็ตในสหรัฐอเมริกาได้ ซึ่งจะเป็นการรับส่งหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลข้อสนเทศต่าง ๆ ใน
ลักษณะสัญญาณอินเตอร์เน็ตผ่านทางดาวเทียมหรือเคเบิลใยแก้วระหว่างประเทศเชื่อมโยงกับเครือข่าย
อินเตอร์เน็ตของ A หรือ B ในสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ในการรับส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตระหว่างบริษัทฯ กับ
A และ B มายังหรือออกจากประเทศไทยจะต้องผ่านศูนย์การปฏิบัติงานของ กสท. โดยบริษัทฯ ตกลง
ชำระค่าตอบแทนการเชื่อมต่อสัญญาณอินเตอร์เน็ตของตนกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของ A และ B ผู้
ให้บริการ (หรือที่เรียกว่า "ค่าวงจรความเร็วสูงระหว่างประเทศ") เป็นรายเดือน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น
การชำระให้กับ A หรือ B ในสหรัฐอเมริกาโดยตรงหรือชำระผ่านทาง กสท. ก็ตาม
5. บริษัทฯ หารือว่า ค่าบริการวงจรความเร็วสูงระหว่างประเทศดังกล่าวถือเป็นค่าบริการ
ประเภทใดและบริษัทฯ ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่ ในอัตราเท่าใด ในกรณีชำระให้บริษัทผู้
ให้บริการในประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศสิงคโปร์ และประเทศญี่ปุ่น
แนววินิจฉัย: กรณีบริษัทฯ ชำระค่าวงจรความเร็วสูงระหว่างประเทศให้กับ A และ B ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ
ด้านการสื่อสารและโทรคมนาคมในสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการขอเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบเครือ
ข่ายอินเตอร์เน็ตของผู้ให้บริการในสหรัฐฯ ซึ่งการเชื่อมต่อหรือการเข้าสู่เครือข่ายดังกล่าว ก็เพื่อเป็น
ทางผ่านให้มีการถ่ายทอดสัญญาณอินเตอร์เน็ตไปมาระหว่างกันได้โดยลูกค้าของบริษัทฯ ในประเทศไทยก็
จะสามารถใช้อินเตอร์เน็ตท่องไปในเครือข่ายต่าง ๆ (เข้าไปในเว็บไซด์) ในต่างประเทศเพื่อค้นข้อมูล
ติดต่อสื่อสาร และใช้ระบบสารสนเทศอื่น ๆ รวมทั้งการรับส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) กับผู้ใช้
อินเตอร์เน็ตในเครือข่ายรายอื่นได้ ทั้งนี้ การที่บริษัทฯ จะสามารถเชื่อมต่อหรือเข้าสู่ระบบเครือข่าย
อินเตอร์เน็ตของผู้ให้บริการได้นั้น บริษัทฯ จะต้องรับผิดชอบจัดเตรียมวงจร เครื่องมือและอุปกรณ์สื่อสาร
อื่น ๆ ของตนในประเทศไทยตามแบบที่ผู้ให้บริการกำหนด รวมไปถึงการติดตั้งเครื่องมือและอุปกรณ์
เหล่านั้นด้วยตนเองและหากมีอุปสรรคหรือข้อขัดข้องเกี่ยวกับระบบเครือข่ายหรือเครื่องมืออุปกรณ์สื่อสาร
ใด ๆ รวมทั้งปัญหาจากลูกค้าของบริษัทฯ ในประเทศไทยแล้ว บริษัทฯ ต้องรับผิดชอบและดำเนินการ
แก้ไขอุปสรรคข้อขัดข้องนั้นเอง A หรือ B มิได้อนุญาตให้บริษัทฯ ใช้หรือมีสิทธิในการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์
หรือได้ล่วงรู้ถึงแบบแผน สูตร หรือกรรมวิธีลับใด ๆ อันเป็นข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทาง
อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการเชื่อมต่อหรือเข้าสู่ระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
ของตน แต่อย่างใด ดังนั้น ค่าตอบแทนสำหรับการเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบเครือข่ายหรือที่เรียกว่าค่าบริการ
วงจรความเร็วสูงระหว่างประเทศที่บริษัทฯ ชำระให้แก่ A และ B จึงมิใช่ค่าตอบแทนเพื่อการอนุญาตให้
ใช้อันมีลักษณะเป็น "ค่าสิทธิ" ตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร หากแต่เป็น "ค่าบริการ" ที่
เป็นเงินได้จากธุรกิจหรือการพาณิชย์ที่ผู้ให้บริการซึ่งประกอบกิจการด้านการสื่อสารและโทรคมนาคมใน
ต่างประเทศเรียกเก็บอันเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น บริษัทฯ
ผู้จ่ายเงินได้จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 15 ของเงินที่จ่ายตามมาตรา 70
แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด กรณีจึงไม่จำต้องพิจารณาว่าผู้รับเงินได้ดังกล่าวมีถิ่นที่อยู่ในประเทศที่
ได้ทำอนุสัญญาภาษีซ้อนไว้กับประเทศไทยหรือไม่อย่างไร
เลขตู้: 65/31492

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020