เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811(กม.14)/630
วันที่: 30 พฤษภาคม 2545
เรื่อง: การดำเนินคดีอาญาและการตั้งบัญชีลูกหนี้ค่าภาษีอากร กรณีตัวแทน (Shipping) ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด.53) แทนเจ้าของสินค้า
ข้อกฎหมาย: คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.101/2544ฯ
ข้อหารือ: กรมสรรพากรได้จัดสัมมนาสรรพากรอำเภอในท้องที่เขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 51 เขต
และสำนักต่างๆ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2545 สรรพากรอำเภอเสนอประเด็นพิจารณาเกี่ยวกับตัวแทน
ออกของ (Shipping) ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งเงินแทนลูกค้าของตน โดยใช้เช็คของชิปปิ้งชำระ
ภาษีอากร และกรณีเช็คขัดข้องจะตั้งหนี้ค่าภาษีอากรค้างในนามผู้ใด ซึ่ง สม.เห็นว่า กรณีชำระ
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ด้วยเช็คที่สั่งจ่ายโดยเจ้าของสินค้า หากเช็คขัดข้องจะตั้งหนี้ค่าภาษีอากรในนาม
เจ้าของสินค้า และดำเนินคดีอาญากรณีเช็คขัดข้องกับเจ้าของสินค้าด้วยสอดคล้องกับ
ระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการรับเงินภาษีอากรเป็นเช็ค พ.ศ. 2539 แต่หากตัวแทน (Shipping)
ออกเช็คประเภท ง. แทนเจ้าของสินค้าและเกิดเช็คขัดข้อง ความรับผิดยังคงเป็นเจ้าของสินค้ารวมทั้ง
ต้องตั้งหนี้ภาษีอากรค้างในนามเจ้าของสินค้า แต่การดำเนินคดีอาญากรณีเช็คขัดข้องจะต้องดำเนิน
คดีอาญากับผู้สั่งจ่ายเช็ค เกี่ยวกับการตั้งหนี้ค่าภาษีอากรและการดำเนินคดีอาญากับตัวแทน (Shipping)
ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร เพื่อจะได้กำหนดทางปฏิบัติต่อไป
แนววินิจฉัย: การที่ตัวแทน (Shipping) ได้จ่ายค่าใช้จ่ายในการดำเนินพิธีการออกของในนามของ
เจ้าของสินค้าให้กับผู้ประกอบการ ตัวแทนมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และออก
หนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายให้กับผู้ประกอบการ โดยใช้แบบพิมพ์หนังสือรับรองของ
ตัวแทน และต้องระบุชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของเจ้าของสินค้า รวมทั้งมีหน้าที่ยื่น
แบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด.53 แทนเจ้าของสินค้าด้วย ตาม
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.101/2544 ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2544 ประกอบกับคำชี้แจง
กรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2544 ซึ่งหน้าที่และความรับผิดในการหักและนำส่งภาษีดังกล่าว
ยังเป็นของเจ้าของสินค้า เพียงแต่ตัวแทน (Shipping) เป็นผู้ทำแทนเท่านั้น ดังนั้น หากตัวแทนออก
เช็คนำส่งภาษีแทนเจ้าของสินค้าและเช็คขัดข้อง การตั้งบัญชีลูกหนี้ค่าภาษีอากรต้องตั้งในนามเจ้าของ
สินค้า
สำหรับการดำเนินคดีอาญากรณีเช็คขัดข้อง เนื่องจากตัวแทน (Shipping) เป็นผู้ออกเช็ค
สั่งจ่ายเงิน เพื่อนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย แทนเจ้าของสินค้า โดยมีเจตนาจะ ให้ผูกพันตนและชำระ
หนี้แทนเจ้าของสินค้า ซึ่งตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.
2534 ไม่ได้กำหนดว่าผู้ออกเช็คจะต้องออกเช็คเพื่อชำระหนี้ของตน เท่านั้น ดังนั้น เมื่อเช็คดังกล่าว
ขัดข้อง จึงสามารถดำเนินคดีอาญากับตัวแทน (Shipping) ได้ ความเห็นของ สม. ถูกต้องแล้ว
เลขตู้: 65/31480


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020