เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ./5695
วันที่: 26 มิถุนายน 2545
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเงินวางประกัน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 83/8
ข้อหารือ: หน่วยงานราชการหารือกรณีบริษัท ว. ได้ขอคืนเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยอ้างเหตุว่า
เจ้าหน้าที่เรียกเก็บไว้ไม่ถูกต้อง ซึ่งมีข้อเท็จจริง ดังนี้บริษัทฯ ได้นำสินค้าเครื่องตีเกลียวและตีสลิงพร้อม
อุปกรณ์จำนวน 2 ชุดเข้ามาเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2541 ต่อมาเจ้าหน้าที่ฯ ได้ทำการสำรวจเป็น
ของตกค้างแล้วนำออกขายทอดตลาดครั้งหนึ่งแล้วแต่ขายไม่ได้ ซึ่งบริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องขอยืดระยะเวลา
ผ่อนผันการผ่านพิธีการ และชำระค่าภาษีอากรเพื่อนำสินค้าออกไปจากอารักขาศุลกากรอีก 60 วัน โดย
นำเช็คธนาคารมาวางเป็นประกันค่าอากรจำนวน 25% ของค่าอากรทั้งจำนวน ส่วนค่าอากรที่เหลืออีก
75% จะมาชำระภายในกำหนดเวลา 60 วัน โดยบริษัทฯ อ้างว่ากำลังประสบปัญหาด้านการเงิน
หน่วยงานราชการได้อนุมัติผ่อนผันตามที่บริษัทฯ ร้องขอโดยรับมัดจำไว้เป็นเงินประกันค่าอากร 25% ของ
ค่าอากรทั้งจำนวนเป็นเงิน 463,196 บาท ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน 972,712 บาท รวมเป็นเงิน
1,435,908 บาท และให้บริษัทฯ วางมัดจำเพิ่มอีก 75% ภายในกำหนดระยะเวลา 60 วัน นับแต่วันรับ
คำร้อง และนำมาผลักเป็นรายได้แผ่นดินทั้งจำนวน และออกใบเสร็จค่าภาษีอากรให้ภายหลังต่อมาเมื่อ
บริษัทฯ ได้นำส่วนที่เหลืออีก 75% มาชำระเป็นค่าภาษีอากร เจ้าหน้าที่ฯ ได้เรียกเก็บเงินเพิ่ม
ภาษีมูลค่าเพิ่มอีก จำนวน 87,544 บาท ซึ่งภายหลังบริษัทฯ ได้มีหนังสือขอคืนเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม
จำนวนดังกล่าว โดยแจ้งว่าเจ้าหน้าที่เรียกเก็บไว้ไม่ถูกต้องเพราะสินค้าดังกล่าวยังอยู่ในอารักขาของ
ศุลกากรในวันชำระค่าภาษีอากร จึงขอหารือดังนี้
1. การที่บริษัทฯ ได้ขอยืดระยะเวลาการผ่านพิธีการ โดยการวางประกันค่าอากรจำนวน
25% ของค่าอากรทั้งจำนวนนั้น เงินวางประกันดังกล่าวถือว่าเป็นการวางหลักประกันอากรขาเข้า ตาม
มาตรา 78/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่
2. กรณีมีการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มบางส่วนอันเนื่องจากการวางประกันในข้อ 1. ต่อมาได้มี
การชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจนครบถ้วน กรณีดังกล่าวเป็นการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ครบถ้วนอันเป็นเหตุให้
ต้องเรียกเก็บเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ นั้น
แนววินิจฉัย: ตามมาตรา 83/8 แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดให้ผู้นำเข้าที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มยื่น
ใบขนสินค้าตามแบบที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนดต่อเจ้าพนักงาน ณ ด่านศุลกากร ตามที่กำหนดในกฎหมาย
ว่าด้วยศุลกากรและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อเจ้าพนักงานศุลกากรพร้อมกับชำระอากรขาเข้าตามกฎหมาย
ว่าด้วยศุลกากร เมื่อบริษัทฯ ยังไม่ได้ทำพิธีการนำเข้าโดยยื่นใบขนสินค้าตามแบบที่หน่วยงานราชการได้
กำหนดไว้ สินค้าจึงยังอยู่ในอารักขาของศุลกากรตามมาตรา 40 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร
พ.ศ. 2469 การที่หน่วยงานราชการยืดระยะเวลาการทำพิธีการนำเข้าออกไป โดยเรียกเก็บเงินวาง
ประกัน 25% ของค่าอากร จึงเป็นเพียงการวางเงินประกันที่คู่สัญญาจะต้องปฏิบัติตามประมวลระเบียบ
ปฏิบัติศุลกากร พ.ศ. 2530 ไม่เป็นการชำระอากรขาเข้าอันจะทำให้ความรับผิดในการเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 78/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่ต้องเรียกเก็บเงินเพิ่มแต่
อย่างใด
เลขตู้: 65/31695

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020