เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ./5694
วันที่: 26 มิถุนายน 2545
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการเสียภาษีของนิติบุคคลอาคารชุด
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(5), มาตรา 77/2, มาตรา 82/3
ข้อหารือ: บริษัท ค. ดำเนินกิจการรับเป็นที่ปรึกษาด้านการบัญชีและภาษีอากรลูกค้าของบริษัทฯ ซึ่งเป็น
นิติบุคคลอาคารชุดพักอาศัยริมทะเลต่างจังหวัดได้ดำเนินการตาม
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 33/2540 ฯ ให้นิติบุคคลอาคารชุดที่เข้าลักษณะตาม
คำวินิจฉัยดังกล่าว มิต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มจากรายรับตามคำวินิจฉัยนั้น แต่เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรได้
มาตรวจสอบรายละเอียด และแจ้งให้ทราบว่า มีรายรับบางประเภทไม่เข้าข่ายได้รับ
ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มได้แก่
1. รายรับค่าซ่อมแซมเครื่องปรับอากาศ และอุปกรณ์ไฟฟ้า
นิติบุคคลอาคารชุดเรียกเก็บค่าซ่อมแซมเครื่องปรับอากาศ และอุปกรณ์ไฟฟ้าจากเจ้าของ
ห้องชุดเฉพาะรายที่แจ้งให้ทางนิติบุคคลอาคารชุดช่วยไปดำเนินการให้ เนื่องจากอาคารชุดดังกล่าวเป็น
อาคารชุดพักอาศัยริมทะเล เจ้าของห้องชุดส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพมหานคร จะเปิดใช้ห้องชุดเพื่อ
พักอาศัยเป็นครั้งคราว จึงทำให้ไม่สะดวกในการว่าจ้างช่างภายนอกมาซ่อมกรณีเครื่องปรับอากาศหรือ
อุปกรณ์ไฟฟ้าเสีย จึงขอให้นิติบุคคลอาคารชุดช่วยอำนวยความสะดวก โดยจัดบริการซ่อมแซมให้ ซึ่ง
นิติบุคคลอาคารชุดมิได้มีความประสงค์คิดหากำไรในส่วนนี้แต่อย่างไรค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมได้คำนวณ
จากต้นทุนวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ พร้อมค่าแรงงานของช่าง ค่าพาหนะ ค่าเอกสารและค่าใช้จ่ายในการติดต่อสั่ง
ซื้อวัสดุ ประกอบกับการติดต่อโทรศัพท์ทางไกลกับเจ้าของห้องชุด โดยได้คำนวณเฉลี่ยเป็นประมาณการ
เปอร์เซ็นต์บวกเพิ่มในต้นทุนวัสดุอุปกรณ์ที่เรียกเก็บจากเจ้าของห้องชุดเช่นเดียวกัน เท่ากันทุกห้องชุดที่
เรียกให้ซ่อมแซม
2. รายรับค่าบริการรับฝากชำระค่าไฟฟ้า และค่าโทรศัพท์
เจ้าของห้องชุดส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพมหานคร ไม่สะดวกในการไปติดต่อชำระค่า
ไฟฟ้า และค่าโทรศัพท์ด้วยตนเอง ซึ่งการไฟฟ้า และองค์การโทรศัพท์ ได้จัดส่งใบแจ้งหนี้มาที่อาคารชุดฯ
ทุกเดือน เจ้าของห้องชุดจึงแจ้งความจำนงโดยฝากเงินจำนวนหนึ่งไว้กับนิติบุคคลอาคารชุด และขอให้
ช่วยชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ดังกล่าวให้แทน ซึ่งนิติบุคคลอาคารชุดได้คิดค่าใช้จ่ายในการฝากชำระ โดย
คำนวณค่าใช้จ่ายของเจ้าหน้าที่ ค่าพาหนะ ค่าเอกสาร โทรสาร ค่าไปรษณีย์ในการติดต่อและจัดส่ง
เอกสารสรุปค่าใช้จ่ายให้เจ้าของห้องชุดเพื่อรับทราบทุกเดือน นอกจากนี้ยังมีค่าโทรศัพท์ในการติดตาม
ทวงถามเมื่อเงินฝากชำระใกล้หมดอีกด้วย จึงเป็นที่มาของการกำหนดค่าบริการรายปี เพื่อเรียกเก็บจาก
เจ้าของห้องชุด
3. รายรับค่าบริการโทรศัพท์ผ่านตู้สาขาโทรศัพท์
เจ้าของห้องชุดบางรายมิได้ติดตั้งโทรศัพท์สายตรง เมื่อจะใช้โทรศัพท์ก็จะต้องโทรศัพท์
ผ่านตู้สาขาโทรศัพท์ (ตู้ PABX) ของนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งนิติบุคคลอาคารชุดได้คิดค่าใช้จ่ายในการ
โทรศัพท์ โดยคำนวณจากค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น คือ ต้นทุนค่าโทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์หรือ
การสื่อสารแห่งประเทศไทย ค่าซ่อมแซมบำรุงรักษาตู้สาขารวมถึง ค่าแรงงานช่างในการดูแล และ
อะไหล่อุปกรณ์ทดแทนของเสื่อมสภาพด้วย จึงได้กำหนดเป็นอัตราค่าบริการเรียกเก็บจากเจ้าของห้องชุด
บริษัทฯ เห็นว่า รายรับค่าบริการทั้ง 3 ประเภทข้างต้น นิติบุคคลอาคารชุดได้ให้บริการ
เฉพาะแก่เจ้าของห้องชุดโดยตรงเท่านั้น มิได้เป็นการบริการให้กับบุคคลอื่นใดเลย ซึ่งถือเป็นการบริการ
ทำนองเดียวกับ "ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอย่างอื่น" ที่นิติบุคคลอาคารชุดฯ เรียกเก็บจากเจ้าของห้องชุด ตาม
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 33/2540 ฯ รายรับดังกล่าวจึงควรได้รับ
การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย บริษัทฯ จึงขอหารือว่า รายรับดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่
จะได้แจ้งให้ลูกค้าทราบเพื่อปฏิบัติทางด้านภาษีอากรให้ถูกต้องต่อไป
แนววินิจฉัย: กรณีตาม 1.-2. มิใช่เป็นการกระทำกิจการซึ่งตามปกติวิสัยในการจัดการดูแลรักษาอาคารชุด
เป็นกิจการที่จำเป็นและสมควร เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ตามที่กฎหมายว่าด้วยอาคารชุดกำหนดไว้
แต่เข้าลักษณะเป็นการกระทำของ "ผู้ประกอบการ" ซึ่ง ให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ ตามมาตรา
77/1(5) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อการกระทำกิจการซึ่งไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม มีมูลค่าของ
ฐานภาษีเกิน 1,200,000 บาทต่อปี จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่ง
ประมวลรัษฎากร นิติบุคคลอาคารชุดต้องนำรายรับที่ได้จากกิจการดังกล่าวมาคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
กรณีตาม 3. เข้าลักษณะเป็นค่าสาธารณูปโภคที่เป็นค่าโทรศัพท์ ถือเป็นการกระทำที่จำเป็น
และสมควรของนิติบุคคลอาคารชุด จึงไม่ต้องนำรายรับดังกล่าวมาคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
เลขตู้: 65/31694


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020