เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ./5211
วันที่: 12 มิถุนายน 2545
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีได้สิทธิเป็นสมาชิกสนามกอล์ฟโดยการซื้อหุ้น
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ทวิ (4), มาตรา 79/3(1)
ข้อหารือ: 1. บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบกิจการให้บริการสนามกอล์ฟ ได้จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อปี 2533 มีทุน
จดทะเบียนในปี 2533 จำนวน 312.5 ล้านบาท ต่อมาในปี 2534 ได้มีมติเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 300
ล้านบาท โดยทยอยเรียกชำระค่าหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิม ดังนี้
งวดแรก ในปี 2534 จำนวน 180 ล้านบาท มูลค่าหุ้นละ 10 บาท ขายให้ผู้ถือหุ้น 50
บาท (เป็นมูลค่าหุ้นเพิ่มทุน 180 ล้านบาท และส่วนล้ำมูลค่าหุ้น 720 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 900 ล้านบาท)
โดยผู้ถือหุ้นเพิ่มทุน 10,000 หุ้น เมื่อจ่ายค่าหุ้นแล้ว ผู้ถือหุ้นนั้นมีสิทธิเล่นกอล์ฟในสนามกอล์ฟ 1 สิทธิ
งวดที่สอง ในปี 2539 จำนวน 60 ล้านบาท มูลค่าหุ้นละ 10 บาท ขายให้ผู้ถือหุ้น 50
บาทเช่นเดิม (เป็นมูลค่าหุ้นเพิ่มทุน 60 ล้านบาท และส่วนล้ำมูลค่าหุ้น 240 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 300
ล้านบาท) โดยบริษัทฯ รับชำระค่าหุ้นล่วงหน้าระหว่างปี 2536 - 2538 ซึ่งถ้าผู้ถือหุ้นเดิมรายใดจ่าย
ค่าหุ้นล่วงหน้าจะมีสิทธิเล่นกอล์ฟในสนามกอล์ฟ เช่นกัน
2. สนามกอล์ฟสร้างเสร็จและเริ่มให้บริการได้ในปี 2537 และเปิดบริการทั้งโครงการ
(ครบ 36 หลุม) ได้ในปี 2539 โดยไม่มีการรับสมาชิกจนกระทั่งปัจจุบันนี้ (2541) และบริษัทฯ ไม่มี
นโยบายรับสมัครสมาชิกแต่ประการใด ผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิเล่นกอล์ฟในสนามกอล์ฟเรียกว่า "สมาชิก"ซึ่งจะ
ได้แก่ผู้ถือหุ้นเพิ่มทุนเท่านั้น ผู้มีสิทธิใช้สนามได้แก่ผู้ถือหุ้นซึ่งได้สิทธิเป็นสมาชิกตามระเบียบของบริษัทฯ
ส่วนบุคคลอื่นซึ่งเข้ามาเล่นต้องเสียเงินเป็นรายครั้งที่เข้ามาเล่นโดยต้องปฏิบัติตามระเบียบของบริษัทฯ
การที่ได้เป็นสมาชิกจะได้รับสิทธิไม่ต้องเสียเงินค่า GREEN FEE เมื่อเข้ามาเล่นกอล์ฟขณะที่บุคคลอื่นซึ่ง
เข้ามาเล่นต้องเสียเงินค่า GREEN FEE
บริษัทฯ เห็นว่า การที่บริษัทฯ ให้ผู้ถือหุ้นเดิมซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามจำนวนที่กำหนดแล้วได้สิทธิใน
สมาชิกสนามกอล์ฟ 1 สิทธิ มิใช่เป็นการให้บริการด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. การที่บริษัทฯ ขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมโดยมีส่วนล้ำมูลค่าหุ้นเงินทั้งหมดที่ได้รับไม่ถือ
เป็นรายได้ของบริษัทฯ แต่เป็นทุนหรือส่วนของผู้ถือหุ้น
2. คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.1/2528 ข้อ 4.7 กำหนดว่า การคำนวณรายได้และ
รายจ่ายของบริษัทฯ ซึ่งประกอบกิจการสนามกอล์ฟให้นำรายได้ที่เรียกเก็บเป็นเงินก้อนเพื่อตอบแทนการ
ให้บริการทั้งจำนวนไม่ว่าจะจ่ายครั้งเดียวหรือผ่อนชำระมาถือเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่ม
ให้บริการหรือจะเฉลี่ยตามอายุสัญญาแต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่ปีที่เริ่มให้บริการ ก็ได้
เงินก้อนตามความหมายในคำสั่งนี้ ย่อมได้แก่เงินที่ผู้เล่นกอล์ฟที่ประสงค์จะเล่นกอล์ฟต้องจ่าย
เพื่อตอบแทนการได้สิทธิในการเข้าเล่นกอล์ฟ มิได้หมายรวมถึงค่าหุ้นและส่วนล้ำมูลค่าหุ้น
การที่ผู้ถือหุ้นเดิมได้รับสิทธิสมาชิกสนามกอล์ฟเมื่อซื้อหุ้นเพิ่มทุนเป็นการได้รับสิทธิก่อนสนาม
กอล์ฟสร้างเสร็จสมบูรณ์ สิทธิที่ได้รับในขณะนั้นไม่อาจคิดคำนวณได้เป็นเงินในปีที่ได้รับเพราะเป็นสิทธิที่จะ
ได้รับในอนาคต จึงไม่ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 39 ที่จะนำไปคิดเป็นกำไรสุทธิซึ่งได้จากกิจการ ตาม
มาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร"
3. การที่บริษัทฯ ขายหุ้นเพิ่มทุนโดยมีข้อจูงใจว่า ผู้ถือหุ้นเดิมหากซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามจำนวนที่
กำหนดแล้ว ย่อมได้สิทธิสมาชิกสนามกอล์ฟเป็นการจูงใจให้มีการซื้อหุ้นวิธีหนึ่งซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างยิ่ง
เพราะบริษัทฯ ขายหุ้นได้หมดในเวลาอันรวดเร็วการกระทำดังกล่าวของบริษัทฯ ถือเป็นการโอนทรัพย์สิน
(สิทธิสมาชิกสนามกอล์ฟ) โดยมีเหตุอันสมควร เทียบเคียงได้กับมติ กพอ. ครั้งที่ 4/2534 ลงวันที่ 9
เมษายน 2534 วาระที่ 1 ข้อ 3.2 ซึ่งมีมติว่า บริษัทฯ ขายที่ดินในบริเวณสนามกอล์ฟแล้วให้สิทธิผู้ซื้อ
ที่ดินใช้สนามกอล์ฟถือว่ามีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจประเมินรายได้เพื่อเสีย
ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินค่าหุ้นที่บริษัทฯ ได้รับมานั้น บริษัทฯ มิได้ให้บริการใด ๆ
แก่ผู้ถือหุ้นเพื่อตอบแทนแก่เงินค่าหุ้นที่ได้รับมาประกอบกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1096
บัญญัติไว้ได้ความว่า บริษัทฯ ตั้งขึ้นด้วยแบ่งทุนเป็นหุ้นโดยมีมูลค่าเท่า ๆ กัน ดังนั้น เงินค่าหุ้นที่ได้รับมา
จึงเป็นทุนของบริษัทฯ มิใช่ค่าบริการ
อีกประการหนึ่ง หากจะพิจารณาว่าการที่บริษัทฯ ให้สิทธิสมาชิกนั้น ไม่มีค่าตอบแทนบริษัทฯ ก็
เห็นว่าในประเด็นนี้เป็นการให้สิทธิสมาชิกโดยมีเหตุอันสมควร ตามแนวปฏิบัติเช่นเดียวกับมติ กพอ. ที่
กล่าวถึงข้างต้น จึงไม่มีมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79/3(1) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ไม่ต้อง
รับผิดเสียภาษีมูลค่าเพิ่มประเด็นนี้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1105 วรรคสอง บัญญัติไว้ได้ความว่าอนุญาตให้
บริษัทออกหุ้นในราคาสูงกว่ามูลค่าหุ้นได้ และต้องส่งใช้จำนวนที่ล้ำมูลค่าพร้อมกับการส่งใช้เงินคราวแรก
และมาตรา 1202 วรรคสอง บัญญัติไว้ได้ความว่า ถ้าบริษัทออกหุ้นโดยคิดเอาราคาเกินกว่าที่ปรากฏใน
ใบหุ้นเท่าใด จำนวนที่คิดเกินนี้ให้บวกเข้าในทุนสำรองเงินค่าหุ้นและเงินส่วนล้ำมูลค่าหุ้น จึงมิใช่ฐานภาษี
มูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเงินจำนวนนี้
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ ขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นแล้วโอนสิทธิสมาชิกสนามกอล์ฟให้แก่ผู้ถือหุ้น
(สมาชิก) โดยไม่มีค่าตอบแทนและมีสิทธิเล่นกอล์ฟโดยไม่ต้องเสียเงินค่า GREEN FEE ถือได้ว่า บริษัทฯ
โอนทรัพย์สินหรือให้บริการ โดยไม่มีคำตอบแทนโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานมีอำนาจที่จะประเมิน
ค่าตอบแทนตามราคาตลาดในวันที่โอน ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากรได้ ส่วนมูลค่าของ
ฐานภาษีมูลค่าเพิ่มให้ถือตามราคาตลาดของสินค้าหรือการให้บริการในวันที่ความรับผิดเกิดขึ้นตามมาตรา
79/3(1) แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีราคาตลาดตาม 1. ที่จะนำมาเสียภาษีเงินได้หรือภาษีมูลค่าเพิ่มจะถือราคาตามมูลค่า
หุ้นที่ผู้ถือหุ้นได้ซื้อจากบริษัทฯ ได้หรือไม่นั้น การที่ผู้ถือหุ้นซื้อหุ้นของบริษัทฯ ก็เพื่อการลงทุนในหลักทรัพย์
ส่วนการได้สิทธิสมาชิกสนามกอล์ฟและเล่นกอล์ฟโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน มิใช่การจ่ายค่าสินค้าหรือ
ค่าบริการด้วยหุ้นของผู้ซื้อแต่อย่างใด ดังนั้น ราคาตลาดตาม 1. จึงต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงเป็น
แต่ละกรณีไป จะถือราคามูลค่าหุ้นที่ผู้ถือหุ้นได้ซื้อหุ้นจากบริษัทฯ ไม่ได้
เลขตู้: 65/31522


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020