เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.4120
วันที่: 20 พฤษภาคม 2545
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีประกอบกิจการผลิต และขายผลิตภัณฑ์จากยางพารา
ข้อกฎหมาย: มาตรา 81(1)(ก), มาตรา 82(1), มาตรา 80/1(1)
ข้อหารือ: บริษัท A. ได้หารือภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีประกอบกิจการผลิตและขายผลิตภัณฑ์จากยางพารา
ประเภทยางแท่ง (เอสทีอาร์ 5 แอล), น้ำยางข้นและ SKIM BLOCK ทั้งในประเทศและส่งออก บริษัทฯ
จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
แนววินิจฉัย: กรณีการผลิตและขายสินค้าประเภทยางแท่ง, น้ำยางข้นและ "SKIM BLOCK" หรือ "ยางอบ
อัดเป็น BLOCK" ซึ่งประเภทหลังนี้เป็นการนำเศษน้ำยางที่เหลือจากการผลิตน้ำยางข้นนำมาใส่น้ำกรด
และสารเคมีเพื่อรักษาสภาพ ให้เนื้อยางจับตัวกันลอยขึ้นมา แล้วนำยางเข้าเครื่องรีดเป็นแผ่นบาง ใช้น้ำ
ล้างสารเคมีและกรดออกจากเนื้อยาง หลังจากนั้นเมื่อได้ยางที่บางก็จะนำผ่านเข้าเครื่องตัดทำเป็นชิ้น
เล็กๆ นำเข้าอบอัดเป็น BLOCK เข้าลักษณะเป็นพืชผลทางการเกษตร บริษัทฯ ขายยางแท่ง, น้ำยางข้น
และ SKIM BLOCK ภายในประเทศ จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ก) แห่ง
ประมวลรัษฎากร แต่อย่างไรก็ดี หากบริษัทฯ ประสงค์จะเข้ามาในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ มีสิทธิ
แจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามแบบที่อธิบดีกำหนด เพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81/3(1)
แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนการที่บริษัทฯ ได้ขายสินค้าดังกล่าวเพื่อการส่งออก เข้าลักษณะเป็นการขาย
ตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82(1)แห่ง
ประมวลรัษฎากรโดยได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(1) แห่ง
ประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 65/31435

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020