เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/4140
วันที่: 20 พฤษภาคม 2545
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีบริษัทต่างประเทศให้บริการรับจ้างขุดเจาะหลุมสำรวจปิโตรเลียม
ข้อกฎหมาย: พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505
ข้อหารือ: บริษัท C ได้รับสัมปทานให้เป็นผู้ดำเนินงานการสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมและก๊าซ
สำหรับแปลงสำรวจบนบกหมายเลข 123 ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท R ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นใน
ประเทศออสเตรเลีย เพื่อให้เข้ามาดำเนินการขุดเจาะหลุมสำรวจปิโตรเลียมในแปลงสำรวจดังกล่าว
บริษัท R ได้นำแท่นขุดเจาะพร้อมผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดำเนินการขุดเจาะหลุมสำรวจปิโตรเลียมให้แก่
บริษัท C ผู้ได้รับสัมปทาน และขนย้ายแท่นขุดเจาะออกไปนอกราชอาณาจักรเมื่อการปฏิบัติงานเสร็จสิ้น
โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 64 วัน จึงขอหารือว่า กรณีดังกล่าวจะถือว่าบริษัท R มี
สถานประกอบการถาวรในประเทศไทยตามข้อ 5 วรรค 2 (ฉ) แห่งความตกลงฯ หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. เงินค่าตอบแทนการให้บริการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม ตามสัญญาฯ ที่ บริษัท R ได้รับ
ถือเป็น "กำไรจากธุรกิจ" ซึ่ง บริษัท R จะต้องเสียภาษีในประเทศไทย ต่อเมื่อประกอบธุรกิจโดยผ่าน
ทางสถานประกอบการถาวรที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ตามนัยข้อ 7 และ ข้อ 5 แห่งความตกลงระหว่าง
ราชอาณาจักรไทยกับประเทศออสเตรเลีย เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยง
รัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้
2. กรณี บริษัท R ซึ่งมิใช่ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม แต่เป็นเพียงผู้รับจ้างเหมาให้บริการ ขุด
เจาะสำรวจปิโตรเลียม โดยนำแท่นขุดเจาะพร้อมผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดำเนินการให้แก่ บริษัท C
ผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมซึ่งได้รับสัมปทานในแปลงสำรวจเท่านั้น การให้บริการดังกล่าวจึงถือมิได้ว่า
บ่อน้ำมัน บ่อก๊าซ หรือสถานที่อื่นใดที่มีการขุดเจาะปิโตรเลียมในแปลงสำรวจนั้น เป็น
สถานประกอบการถาวรของ บริษัท R ตามคำนิยามในข้อ 5 วรรคสอง (ฉ) แห่งความตกลงฯ หากแต่
การที่ บริษัท R นำแท่นขุดเจาะรวมทั้งเครื่องมืออุปกรณ์ขุดเจาะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาขุดเจาะใน
แปลงสำรวจดังกล่าวนั้นเอง ที่เข้าลักษณะเป็นที่ตั้งอาคาร โครงการก่อสร้างหรือโครงการประกอบ ซึ่ง
ถือเป็นสถานประกอบการถาวร หากดำรงอยู่เกินกว่า 6 เดือน แต่เนื่องจากการให้บริการดังกล่าวของ
บริษัท R มีระยะเวลาดำเนินการเพียง 64 วัน ซึ่งไม่เกินกว่า 6 เดือน การให้บริการดังกล่าวจึงยังถือ
ไม่ได้ว่า บริษัท R ประกอบธุรกิจโดยผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย ตามคำนิยาม
สถานประกอบการถาวรตามข้อ 5 วรรคสอง (ช) แห่งความตกลงฯ บริษัท R จึงได้รับการยกเว้น
ภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยจากเงินค่าตอบแทนการให้บริการดังกล่าว ตามข้อ 5 และข้อ 7
วรรคแรก แห่งความตกลงฯ ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505
ฉะนั้น บริษัท C ซึ่งเป็นผู้จ่ายค่าจ้างจึงไม่อยู่ในบังคับต้องหักภาษี เงินได้ ณ ที่จ่ายเมื่อได้ชำระค่าบริการ
ตามสัญญาให้แก่ บริษัท R
เลขตู้: 65/31448

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020