เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/ก.598
วันที่: 14 พฤษภาคม 2545
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีธุรกิจตัวแทนออกของ (ชิปปิ้ง)
ข้อกฎหมาย: คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
ข้อหารือ: กลุ่มสมาคมตัวแทนออกของได้ขอให้กรมสรรพากรพิจารณาปรับลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
จากอัตราร้อยละ 3.0 เป็นอัตราร้อยละ 1.0 แต่หากไม่สามารถปรับลดอัตราลงได้ ขอให้เจ้าของสินค้า
หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากตัวแทนออกของ (ชิปปิ้ง) ในอัตราร้อยละ 3.0 จากค่าบริการจริง ไม่รวม
ค่าใช้จ่ายที่ไม่มีใบเสร็จรับเงินและค่าใช้จ่ายตามประเพณี โดยชี้แจงโครงสร้างธุรกิจตัวแทนออกของ
(ชิปปิ้ง) ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. ตัวแทนออกของหรือที่เรียกว่า ชิปปิ้ง ดำเนินธุรกิจเป็นตัวแทนของผู้นำเข้าและผู้ส่งออก
ในการดำเนินพิธีการศุลกากรแทนเจ้าของสินค้า โดยจัดทำใบขนสินค้า ยื่นใบขนสินค้า ตรวจปล่อยสินค้า
และส่งมอบสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศให้แก่ผู้นำเข้า หรือส่งออกสินค้าให้แก่ผู้ส่งออก ซึ่งตัวแทนออก
ของจะได้รับผลตอบแทนจากการดำเนินงานในลักษณะเป็นบำเหน็จหรือค่าจ้างจากเจ้าของสินค้าหรือ
ตัวแทนของเจ้าของสินค้า
2. วิธีการที่ตัวแทนออกของ (ชิปปิ้ง) เบิกเงินจากเจ้าของสินค้า
2.1 การเบิกเงินค่าใช้จ่ายล่วงหน้าจากเจ้าของสินค้า หรือที่เรียกว่า "เงินค่า
Advance" ซึ่งตัวแทนออกของจะเบิกเงินล่วงหน้าที่เป็นค่าใช้จ่ายในการออกของ โดยตัวแทนออกของ
อาจจะออกใบรับเงินให้แก่ลูกค้า และเมื่อดำเนินงานเสร็จแล้วจะนำค่าใช้จ่ายจริงมาเบิกเพื่อปิดบัญชี
"เงินค่า Advance" ซึ่งอาจรวบรวมจากการทำงานหลาย ๆ ครั้งเพื่อเบิกปิดบัญชีเงินค่า Advance ใน
ครั้งเดียว หรือแยกออกเป็นแต่ละครั้งก็ได้
2.2 ตัวแทนออกของได้มีการสำรองจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แทนให้กับเจ้าของสินค้าไปก่อน
ภายหลังงานเสร็จ ตัวแทนออกของจะเบิกเงินที่สำรองจ่ายไปพร้อมทั้งค่าบริการในการดำเนินงานจาก
เจ้าของสินค้า ซึ่งอาจเรียกเก็บเงินโดยการรวบรวมงานหลายครั้งหรือเรียกเก็บเงินแต่ละครั้งก็ได้
2.3 ตัวแทนออกของอาจเบิกค่าใช้จ่ายล่วงหน้าจากเจ้าของสินค้า และมีการสำรองจ่าย
ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ด้วยก็ได้
3. ลักษณะของค่าใช้จ่ายที่ตัวแทนออกของเรียกเก็บจากเจ้าของสินค้า ดังนี้
3.1 ค่าใช้จ่ายที่มีใบเสร็จรับเงิน ซึ่งระบุชื่อของเจ้าของสินค้าหรือตัวแทนของเจ้าของ
สินค้าในใบเสร็จรับเงิน หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่ได้มีการจ่ายโดยเจ้าของสินค้าหรือตัวแทนของเจ้าของ
สินค้า ซึ่งตัวแทนออกของทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการจ่ายเงินแทนเจ้าของสินค้าหรือตัวแทนของเจ้าของ
สินค้า ผู้รับเงินจึงออกใบเสร็จรับเงินในนามของเจ้าของสินค้าหรือตัวแทนของเจ้าของสินค้าและตัวแทน
ออกของจะส่งมอบใบเสร็จรับเงินดังกล่าวให้แก่เจ้าของสินค้าหรือตัวแทนของเจ้าของสินค้า ค่าใช้จ่าย
เหล่านี้ได้แก่ ค่าภาระ (Port Handling Charge) ค่าเช่าพื้นที่ ค่าใช้อุปกรณ์ หรือเครื่องมือต่าง ๆ
ซึ่งจ่ายให้แก่ท่าเรือ คลังสินค้า และผู้ประกอบการท่าเอกชนต่าง ๆ ค่าภาษี ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ของ
กรมศุลกากร หรือค่าธรรมเนียมของราชการและรัฐวิสาหกิจ ค่าขนส่งสินค้า ค่าภาระท่าเรือ เป็นต้น
3.2 ค่าใช้จ่ายที่ไม่มีใบเสร็จรับเงินและค่าใช้จ่ายตามประเพณี เป็นค่าใช้จ่ายซึ่งได้รับ
การยินยอมโดยสมัครใจของเจ้าของสินค้าหรือตัวแทนของเจ้าของสินค้าหรือผู้ว่าจ้างว่า เป็นค่าใช้จ่ายที่มี
จริง และเจ้าของสินค้ามีความประสงค์ที่จะจ่าย
3.3 ค่าบริการของตัวแทนออกของซึ่งเป็นค่าบำเหน็จ หรือค่าจ้างที่เจ้าของสินค้าจ่ายให้
แก่ตัวแทนออกของเมื่อทำงานเสร็จ ในทางปฏิบัติ ตัวแทนออกของอาจออกใบแจ้งหนี้เฉพาะค่าบริการหรือ
อาจรวมค่าบริการในใบแจ้งหนี้ในการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการออกของที่ดำเนินการแทนเจ้าของสินค้า
4. กลุ่มสมาคมตัวแทนออกของมีความเห็นว่า ในการจัดทำใบขนสินค้า 1 ฉบับ จะมีค่าใช้จ่าย
แฝงที่เป็นรายจ่ายของเจ้าของสินค้า ซึ่งผู้รับเงินมิได้ออกใบเสร็จรับเงินในนามของเจ้าของสินค้า
ประมาณร้อยละ 60 ดังนั้น เมื่อตัวแทนออกของได้ออกใบแจ้งหนี้เรียกเก็บเงินจากเจ้าของสินค้าจำนวน
100 บาท จึงเป็นค่าบริการของตัวแทนออกของจริงเพียงจำนวน 40 บาท มิใช่จำนวน 100 บาท ส่วน
อีก 60 บาท ถือเป็นการจ่ายแทนเจ้าของสินค้า เจ้าของสินค้าจึงควรหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตรา
ร้อยละ 3.0 จากค่าบริการจำนวน 40 บาท เท่านั้น
แนววินิจฉัย: 1. การประกอบธุรกิจตัวแทนออกของ (ชิปปิ้ง) เข้าลักษณะเป็นการให้บริการในฐานะเป็น
ตัวแทนกระทำพิธีการศุลกากรแทนเจ้าของสินค้า กรณีเจ้าของสินค้าได้จ่ายเงินล่วงหน้า (เงิน
Advance) ให้แก่ตัวแทนออกของเพื่อดำเนินการกระทำพิธีการศุลกากร เจ้าของสินค้าไม่มีหน้าที่ต้องหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในขณะที่จ่ายเงินจำนวนเงินดังกล่าว และเมื่อตัวแทนออกของจ่ายค่าใช้จ่ายในการ
ออกของในนามของเจ้าของสินค้าให้แก่ส่วนราชการ หรือองค์การของรัฐบาล ซึ่งไม่มีหน้าที่เสีย
ภาษีเงินได้นิติบุคคล ตัวแทนออกของไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และเมื่อเจ้าของสินค้าจ่าย
เงินค่าใช้จ่ายในการออกของคืนให้แก่ตัวแทนออกของ ตามใบเสร็จรับเงินของส่วนราชการหรือองค์การ
ของรัฐบาลนั้น เจ้าของสินค้าก็ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
2. กรณีตัวแทนออกของได้จ่ายค่าใช้จ่ายในการดำเนินพิธีการออกของในนามเจ้าของสินค้าให้
แก่ผู้ประกอบการอื่น ตัวแทนออกของมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ
12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40
แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไข
เพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.104/2544 ฯ ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2544 ซึ่งเจ้าของ
สินค้ามีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่ผู้ประกอบการ และยื่นรายการภาษีเงินได้
หัก ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด.53 อย่างไรก็ดี ตัวแทนออกของจะออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ
ที่จ่าย ให้แก่ผู้ประกอบการแทนเจ้าของสินค้าก็ได้ โดยใช้แบบพิมพ์หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย
ของตัวแทนออกของ แต่ต้องระบุชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของเจ้าของสินค้าด้วย และ
ตัวแทนออกของจะต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด.53 เป็นรายฉบับแต่ละราย
เจ้าของสินค้า โดยตัวแทนออกของจะต้องระบุชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของเจ้าของสินค้า
ในช่อง "ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย" และระบุชื่อตัวแทนออกของในช่อง "ผู้จ่ายเงิน" ซึ่งกรมสรรพากร
จะออกใบเสร็จรับเงินในนามของเจ้าของสินค้า และตัวแทนออกของต้องส่งสำเนาแบบ ภ.ง.ด.53
พร้อมทั้งใบเสร็จรับเงินให้แก่เจ้าของสินค้าด้วย ต่อมาเมื่อเจ้าของสินค้าจ่ายเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนิน
พิธีการออกของจำนวนดังกล่าวคืนให้แก่ตัวแทนออกของ เจ้าของสินค้าไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่าย
3. กรณีตัวแทนออกของได้รับค่าบำเหน็จหรือค่าจ้าง เนื่องจากการให้บริการในฐานะเป็น
ตัวแทนกระทำพิธีการศุลกากรแทนเจ้าของสินค้า กรณีตามตัวอย่าง เจ้าของสินค้าจ่ายค่าบำเหน็จให้แก่
ตัวแทนออกของจำนวน 100 บาท ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร
หากเจ้าของสินค้าเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น จ่ายค่าบำเหน็จให้แก่ตัวแทนออกของ
ซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในประเทศไทย เจ้าของสินค้ามีหน้าที่ต้องหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของค่าบำเหน็จจำนวน 100 บาท ตามข้อ 3/1 ของ
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.101/2544 ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2544 เจ้าของสินค้าไม่
สามารถหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากจำนวน 40 บาท เนื่องจากตัวแทนออกของกระทำการในฐานะเป็น
ตัวแทนของเจ้าของสินค้า หากรายจ่ายจำนวน 60 บาท เป็นรายจ่ายของเจ้าของสินค้ามิใช่รายจ่ายของ
ตัวแทนออกของตัวแทนออกของย่อมต้องมีใบเสร็จรับเงินในนามของเจ้าของสินค้าแสดงว่าได้จ่ายไปจริง
ซึ่งเป็นรายจ่ายที่ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (18) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 65/31419


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020