เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/ก.597
วันที่: 14 พฤษภาคม 2545
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายค่าบริการที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้า
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(8), มาตรา 17, มาตรา 50 ทวิ วรรคสาม, มาตรา 60
ข้อหารือ: ธนาคารหารือเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายของค่าบริการที่ธนาคาร
เรียกเก็บจากลูกค้า ดังนี้
1. กรณีธนาคารรับชำระค่าบริการต่างๆ จากลูกค้าโดยเรียกเก็บค่าบริการจากลูกค้าโดยการ
หักบัญชีเงินฝากที่ลูกค้ามีอยู่กับธนาคารโดยอัตโนมัติ ลูกค้าจึงไม่สามารถหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายได้ในทันที
ที่จ่ายค่าบริการ (ทันทีที่ธนาคารหักบัญชีเงินฝากของลูกค้า) โดยลูกค้าจะติดต่อธนาคารเพื่อขอหักภาษี ณ
ที่จ่ายในภายหลัง และอาจทำให้ลูกค้ามีปัญหาในการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่ง
ภาษีหัก ณ ที่จ่ายไม่ทันตามเวลาที่กฎหมายกำหนด
2. กรณีธนาคารจะดำเนินการให้ลูกค้าแต่งตั้งให้ธนาคารเป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และลงลายมือชื่อใน
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย พร้อมทั้งยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและชำระภาษีเงินได้หัก
ณ ที่จ่ายแทนลูกค้าผู้จ่ายเงิน โดยทำสัญญาตั้งตัวแทนและมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งธนาคารใน
ฐานะตัวแทนต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นรายฉบับทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินแทนลูกค้า
แต่ละราย และต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในนามของลูกค้าแต่ละราย แต่เนื่องจากธนาคารมี
ลูกค้าเป็นจำนวนมาก จึงไม่อยู่ในวิสัยที่จะทำสัญญาตั้งตัวแทนและมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรกับลูกค้า
ทุกรายและไม่อยู่ในวิสัยที่จะออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายในนามลูกค้าแต่ละรายเป็นรายฉบับ
ทุกครั้งที่มีการจ่ายเงิน และไม่อยู่ในวิสัยที่จะยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในนามของลูกค้าแต่ละ
รายได้ ธนาคารจึงขอผ่อนผันวิธีการปฏิบัติในเรื่องภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย โดยขออนุโลมใช้หลักเกณฑ์
เดียวกับค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตที่ธนาคารเรียกเก็บจากร้านค้าผู้รับบัตรเครดิต โดยขอใช้หลักเกณฑ์
ดังกล่าวกับบริการอื่นของธนาคารซึ่งธนาคารมีความพร้อมและได้รับความยินยอมจากลูกค้า
แนววินิจฉัย: 1. กรณีลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นจ่ายค่าบริการให้กับ
ธนาคารโดยเป็นการจ่ายผ่านระบบการหักเงินจากบัญชีธนาคารของผู้จ่ายเงิน การจ่ายค่าบริการที่เป็น
เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ลูกค้ามีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน
ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.
2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.104/2544 ฯ ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.
2544 และลูกค้ามีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้กับธนาคาร ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย
ในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย อย่างไรก็ดี เนื่องจากลูกค้าจ่ายค่าบริการผ่านระบบการหักเงิน
จากบัญชีธนาคาร ทำให้ลูกค้าของธนาคารไม่สามารถออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ทันภายใน
เวลาที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น เพื่อเป็นการลดภาระการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายของลูกค้า
จึงผ่อนผันให้ลูกค้าซึ่งมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย
สำหรับการจ่ายค่าบริการในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยให้ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ
ที่จ่าย 1 ครั้งต่อเดือน แต่ลูกค้ายังคงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินได้ ทั้งนี้
ตามมาตรา 50 ทวิ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีธนาคารจะดำเนินการให้ลูกค้าซึ่งเป็นผู้จ่ายค่าบริการ แต่งตั้งให้ธนาคาร ซึ่งเป็นผู้ถูก
หักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ
ที่จ่าย และลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงิน พร้อมทั้งยื่นรายการ
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงิน ก็สามารถกระทำได้ โดยจะ
ต้องจัดทำสัญญาการตั้งตัวแทนและมอบอำนาจให้กระทำการแทนเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ ธนาคารซึ่งเป็น
ตัวแทนจะต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายในนามของลูกค้าและต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก
ณ ที่จ่ายในนามของลูกค้า หากธนาคารได้รับแต่งตั้งเป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
แทนลูกค้าหลายๆ ราย ธนาคารจะต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นรายฉบับทุกครั้งที่จ่าย
เงินและต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในนามของลูกค้าเป็นรายฉบับแต่ละรายลูกค้าด้วย
อย่างไรก็ดี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ธนาคารมีลูกค้าเป็นจำนวนมาก จึงไม่อยู่ในวิสัยที่จะทำ
สัญญาการตั้งตัวแทนและมอบอำนาจให้กระทำการแทนเป็นลายลักษณ์อักษร และไม่อยู่ในวิสัยจะออก
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในนามของลูกค้าเป็นรายฉบับทุกครั้งที่มีการจ่ายเงิน และไม่อยู่ใน
วิสัยจะยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในนามของลูกค้าเป็นรายฉบับ จึงให้ธนาคารดำเนินการดังนี้
2.1 กรณีธนาคารได้มีหนังสือแจ้งไปยังลูกค้ารายเดิมของธนาคารโดยมีสาระสำคัญว่า
ธนาคารจะเป็นผู้ดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายของค่าบริการแทน ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ
ที่จ่ายแทน และยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแทน โดยกำหนดระยะเวลาให้ลูกค้าตอบรับ เมื่อลูกค้า
ตอบรับแล้ว ถือว่าหนังสือแจ้งเป็นข้อตกลงแต่งตั้งให้ธนาคารเป็นตัวแทนแล้ว แต่หากเป็นลูกค้าใหม่จะต้อง
มีข้อกำหนดการแต่งตั้งตัวแทนอย่างชัดเจน
2.2 กรณีธนาคารหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับค่าบริการแทนลูกค้าแล้ว ผ่อนผันให้ลูกค้า
ไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับการจ่ายค่าบริการให้กับธนาคารในทันทีทุกครั้งที่มี
การหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งทำให้ธนาคารไม่ต้องออก
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นรายฉบับทุกครั้งที่จ่ายเงิน แต่ธนาคารต้องจัดทำรายละเอียด
รายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งมีรายการเช่นเดียวกับรายละเอียดที่ชมรมธุรกิจบัตรเครดิต -
สมาคมธนาคารไทยได้จัดทำขึ้นประกอบการพิจารณาของกรมสรรพากรเพื่อเป็นหนังสือรับรองการหักภาษี
ณ ที่จ่าย แต่ธนาคารยังคงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินได้ และให้ธนาคาร
ถือปฏิบัติเกี่ยวกับการยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย การจัดทำบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่าย
ตามมาตรา 17 แห่งประมวลรัษฎากร และการใช้สำเนาแบบ ภ.ง.ด.53 และหลักฐานใบเสร็จรับเงิน
ของกรมสรรพากรที่รับชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นหลักฐานในการเครดิตภาษีตามมาตรา 60 แห่ง
ประมวลรัษฎากร เช่นเดียวกับแนวปฏิบัติที่กรมสรรพากรแจ้งให้ชมรมธุรกิจบัตรเครดิต-สมาคมธนาคาร
ไทยทราบ
เลขตู้: 65/31418

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020