เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ./3182
วันที่: 19 เมษายน 2545
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการในต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 83/6(2), มาตรา 77/1(8)(ค)
ข้อหารือ: กรณีบริษัทซึ่งประกอบกิจการส่งออกยางพาราได้จ่ายค่าบริการเป็นอัตรารายปี สำหรับ
การจัดการแนะนำการผลิต การตลาด และการอบรมพนักงานตามข้อตกลงในสัญญาให้แก่บริษัทร่วมทุนซึ่ง
เป็นบริษัทต่างประเทศตั้งอยู่ ณ ประเทศมาเลเซีย บริษัทฯ ได้หารือว่า
1. กรณีบริษัทฯ ส่งสินค้าไปให้บริษัทร่วมทุนในต่างประเทศแทนการชำระเงินค่าบริการ
ดังกล่าว โดยบริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีในนามของบริษัทร่วมทุนในอัตราร้อยละ 0 และคิดราคาใน
ใบกำกับภาษีซึ่งเป็นเงินตราต่างประเทศคูณด้วยอัตราแลกเปลี่ยนของวันถัดไปตามที่กฎหมายกำหนด และ
นำราคาดังกล่าวมาเป็นฐานภาษีในการคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อยื่นแบบ ภ.พ.36 การปฏิบัติดังกล่าว
ถูกต้องหรือไม่
2. ภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัทฯ ต้องนำส่งตามแบบ ภ.พ.36 บริษัทฯ จะต้องยื่นเสียภาษีภายใน 7
วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่ออกใบกำกับภาษีในการส่งออกสินค้าแทนการชำระค่าบริการ หรือภายใน
7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของการครบกำหนดการชำระเงินในใบกำกับภาษี
3. กรณีบริษัทฯ จ่ายค่าบริการเป็นสินค้าล่วงหน้าระหว่างปี และนำไปหักกลบบัญชีค่าบริการ
จัดการซึ่งจะคำนวณคิดตอนสิ้นปี บริษัทฯ จะต้องคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในการยื่นแบบ ภ.พ.36
อย่างไร
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ ชำระค่าบริการการจัดการแนะนำการผลิต การตลาด และการอบรมพนักงาน
ให้แก่บริษัทร่วมทุนในต่างประเทศ เป็นกรณีบริษัทฯ ชำระค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการใน
ต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร บริษัทฯ มีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.พ.36 นำส่งเงิน
ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่เสียตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร แต่กรณีตาม
ข้อเท็จจริง บริษัทฯ ส่งสินค้าไปให้บริษัทร่วมทุนในต่างประเทศแทนการชำระค่าบริการ การส่งสินค้า
ดังกล่าวเป็นการขายสินค้าโดยส่งออกตามมาตรา 77/1(8)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร มูลค่าสำหรับการ
ส่งออกดังกล่าวถือเป็นค่าบริการที่บริษัทฯ ต้องชำระให้แก่บริษัทร่วมทุนในต่างประเทศ บริษัทฯ ต้องนำ
มูลค่าฐานภาษีสำหรับการส่งออกดังกล่าวไปคำนวณเป็นฐานภาษีในการยื่นแบบ ภ.พ.36 เพื่อนำส่ง
ภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯ ต้องยื่นแบบ ภ.พ.36 นำส่ง
ภาษีมูลค่าเพิ่มทุกครั้งที่บริษัทฯ ได้ส่งสินค้าให้บริษัทร่วมทุนในต่างประเทศแทนการชำระค่าบริการ
การจัดการดังกล่าว หากมูลค่าการส่งออกดังกล่าวไม่ครบตามจำนวนค่าบริการที่ต้องชำระตอนสิ้นปี บริษัท
ฯ ต้องนำมูลค่าฐานภาษีสำหรับการส่งออกที่ได้นำไปคำนวณเป็นฐานภาษีและได้ยื่นแบบ ภ.พ.36 ไปแล้ว
นั้นไปหักกลบกับค่าบริการที่ต้องชำระตอนสิ้นปี และเมื่อบริษัทฯ ชำระค่าบริการการจัดการที่เหลือตอนสิ้นปี
บริษัทฯ มีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.พ.36 นำส่งภาษี มูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร
2. ภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัทฯ ต้องยื่นแบบ ภ.พ.36 นำส่งกรมสรรพากรตาม 1. บริษัทฯ ต้อง
นำส่งและยื่นรายการภายในเจ็ดวัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินให้ผู้ประกอบการใน
ต่างประเทศ ทั้งนี้ ตามข้อ 4 ของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการนำส่ง
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย การนำส่งภาษีเงินได้ การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม และการยื่นรายการ ลงวันที่ 24
กรกฎาคม พ.ศ. 2544
3. กรณีบริษัทฯ ส่งสินค้าไปให้บริษัทร่วมทุนในต่างประเทศแทนการชำระค่าบริการดังกล่าว
เป็นกรณีการส่งออกสินค้าตามมาตรา 77/1(8)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร ใบกำกับภาษีโดยการส่งออก
ให้มีรายการเช่นเดียวกันกับใบกำกับสินค้าซึ่งผู้ส่งออกได้ออกเป็นปกติตามประเพณีทาง
การค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 21)
เรื่อง กำหนดรายการในใบกำกับภาษีของสินค้าหรือบริการบางกรณี ตามมาตรา 86/5(1) และ (2)
แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534 โดยมูลค่าของฐานภาษีในการส่งออกเป็นไป
ตามมาตรา 79/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมูลค่าของฐานภาษีดังกล่าวเป็นค่าบริการที่บริษัทฯ จ่าย
ให้แก่บริษัทร่วมทุนในต่างประเทศ บริษัทฯ จะต้องคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย โดยใช้
อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามอัตราอ้างอิงประจำวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศไว้เป็น
อัตราแลกเปลี่ยนในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยของวันถัดไป ตามข้อ 2 และข้อ
3(5) ของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย
ตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 เมื่อความรับผิดในการเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้าโดยส่งออกเกิดขึ้นตามมาตรา 78(4) แห่งประมวลรัษฎากร กล่าวคือ
เมื่อชำระอากรขาออก วางหลักประกันอากรขาออกหรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันอากรขาออก เว้นแต่ในกรณีที่
ไม่ต้องเสียอากรขาออกหรือได้รับยกเว้นอากรขาออก ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นใน
วันที่มีการออกใบขนสินค้าขาออกตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
เลขตู้: 65/31383

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020