เลขที่หนังสือ | : กค 0811/3181 |
วันที่ | : 19 เมษายน 2545 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม แนวทางปฏิบัติของผู้ประกอบการส่งออก |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 80/1 |
ข้อหารือ | : บริษัท S. เป็นตัวแทนออกของได้รับคำร้องเรียนจากผู้ประกอบการส่งออกหลายรายซึ่งประสบ ปัญหา คือ 1. กรณีผู้ส่งออกที่ขอสิทธิประโยชน์จากรัฐ เช่น BOI การขอชดเชยค่าภาษีอากรขอคืนอากร ตามมาตรา 19 ทวิ เป็นต้น จะไม่ค่อยประสบปัญหาในเรื่องสำเนาใบขนสินค้าขาออกเนื่องจากสามารถ จัดทำสำเนาใบขนมุมนำเงิน และขอรับได้ภายหลังโดยประมาณ 30 วัน 2. กรณีผู้ส่งออกที่มิได้ขอสิทธิประโยชน์ใด ๆ จะไม่มีเอกสารที่จะเป็นหลักฐานให้แก่ กรมสรรพากรได้เมื่อถูกร้องขอ เนื่องจากในการจัดทำใบขนสินค้าขาออก เมื่อได้ผ่านพิธีการศุลกากรออก เลขที่ใบขนสินค้าแล้ว จะถือเป็นเอกสารทางราชการ โดยหลักการแล้วจะไม่สามารถถ่ายเอกสารเก็บไว้ ได้ 3. ใบตราส่งสินค้า (Bill of Lading ) เป็นเอกสารที่ทางราชการยอมรับในการนำเข้า มาประกอบการตรวจสอบ เพื่อยืนยันการส่งออกได้ ซึ่งจะบอกว่ามีสินค้าออกไปจริงจำนวนเท่าไร ประกอบกับหลักฐานการชำระค่าสินค้าจากต่างประเทศที่ตรงกับ Invoice ส่งออก ก็จะสามารถพิสูจน์ได้ ว่า มี เงินตราต่างประเทศเข้ามาจริงเป็นจำนวนเท่าไร 4. ใบขนสินค้าขาออกที่ผ่านพิธีการ และตรวจปล่อยเรียบร้อยแล้ว จะถือเป็นเอกสาร ทางราชการ และถูกเก็บรักษาอยู่ที่กรมศุลกากร ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐสังกัดเดียวกับกรมสรรพากร จึง น่าจะเป็นการง่ายและสะดวกถูกต้องกว่า หากเจ้าพนักงานของกรมสรรพากรจะสอบถาม หรือขอเอกสาร จากกรมศุลกากรเอง แทนที่จะเรียกขอจากผู้ส่งออกเป็นการเพิ่มภาระ 5. ในขณะผ่านพิธีการศุลกากรส่งออก ผู้ส่งออกได้จัดทำคู่ฉบับใบขน เพื่อประโยชน์ในการ ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมศุลกากร ซึ่งคู่ฉบับนี้กรมศุลกากรจะเป็นผู้จัดส่งต่อให้แก่กรมสรรพากร ซึ่งทาง กรมสรรพากรสามารถตรวจเช็คได้ โดยไม่ต้องร้องขอจากผู้ส่งออกอีก บริษัทฯ จึงขอทราบแนวทางปฏิบัติ ด้วย |
แนววินิจฉัย | : กรณีผู้ประกอบการส่งออกไม่มีหลักฐานสำเนาใบขนสินค้าขาออกในนามของผู้ประกอบการ จดทะเบียนที่ผ่านพิธีการศุลกากรฉบับที่มีการสลักหลังการตรวจปล่อยสินค้าโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร มาให้ เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้ ผู้ประกอบการสามารถใช้หลักฐานอื่นที่แสดงว่ามีการตรวจปล่อยสินค้า โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรแทนได้ การขอเอกสารหลักฐานดังกล่าวก็เพื่อใช้ประกอบในการตรวจสอบความถูกต้องของการส่งออก และการขอรับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ได้ถูกต้องและรวดเร็วยิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ กับผู้ประกอบการจดทะเบียนเอง |
เลขตู้ | : 65/31382 |