เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ./2977
วันที่: 4 เมษายน 2545
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการแจ้งเลิกและโอนกิจการ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(8), มาตรา 77/1(8)(ฉ), มาตรา 77/2(1), มาตรา 78/1, มาตรา 82/4
ข้อหารือ: กรณีนาง พ. ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มประกอบกิจการขายเครื่องอุปโภคบริโภค
และสินค้าเบ็ดเตล็ดได้แจ้งเลิกกิจการเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2543 โดยระบุว่าเลิกกิจการตั้งแต่วันที่ 4
สิงหาคม 2543 และโอนขายสินค้าและทรัพย์สินในร้านทั้งหมดในวันเดียวกันให้แก่บุคคลอื่น 3 รายซึ่งได้
แบ่งแยกส่วนแต่ละประเภทกิจการอย่างชัดเจนให้แก่ผู้รับโอนแต่ละราย โดยนาง พ. ได้นำมูลค่าสินค้า
คงเหลือและทรัพย์สินในร้าน ณ วันเลิกประกอบกิจการไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว สำนักงาน
สรรพากรภาค 11 หารือว่าการโอนสินค้าและทรัพย์สินกรณีดังกล่าวจะถือว่าเป็นการ "ขาย" ซึ่งอยู่ใน
บังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(8)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่
แนววินิจฉัย: กรณีการโอนกิจการที่ต้องมีการโอนทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการหรือโอนสินค้าซึ่งจะเข้า
ลักษณะเป็นการ "ขาย" ตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่นั้นแยกพิจารณาดังนี้
1. กรณีผู้ประกอบการโอนกิจการไปแล้วและผู้ประกอบการยังคงตั้งอยู่เพื่อดำเนิน กิจการอื่น
ต่อไปหรือมีรายได้จากการประกอบกิจการอื่นซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม การโอนกิจการ
ดังกล่าวถือว่าเป็นการโอนกิจการบางส่วน เข้าลักษณะเป็นการ "ขาย" ตามมาตรา 77/1(8)แห่ง
ประมวลรัษฎากร ผู้โอนกิจการมีหน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้รับโอนกิจการ ตามมาตรา 82/4
แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีผู้ประกอบการโอนกิจการไปแล้วและได้แจ้งเลิกกิจการหรือยังคงอยู่ต่อไปแต่ มิได้
ประกอบการอื่นอันอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่มีรายได้อื่นอันอยู่ในบังคับต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่ม การโอนกิจการดังกล่าวถือเป็นการโอนกิจการทั้งหมดไม่เข้าลักษณะเป็นการ "ขาย"ตาม
มาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้โอนกิจการไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา
77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร
เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏว่านาง พ. ได้ออกใบเสร็จรับเงินสำหรับการขายสินค้าและ
ทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการเดิมของตนให้แก่ผู้รับโอนทั้ง 3 ราย เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2543
และผู้รับโอนทั้ง 3 รายได้จดทะเบียนพาณิชย์แล้วเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2543 ทั้งนาง พ. ได้ยื่นแบบ
แจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.09) เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2543 โดยระบุว่าเลิก
ประกอบกิจการเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2543 กรณีดังกล่าวนาง พ. ได้ขายสินค้าและทรัพย์สินที่ใช้ในการ
ประกอบกิจการก่อนการแจ้งเลิกประกอบกิจการต่อกรมสรรพากร ดังนั้น นาง พ. จึงมีหน้าที่ต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มและออกใบกำกับภาษีทันทีเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ตามมาตรา
78(1) และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร หากนาง พ. มิได้ออกใบกำกับภาษีเมื่อความรับผิดในการ
เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น นาง พ. มีความผิดต้องระวางโทษตามมาตรา 90/2(3) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ต่อมาเมื่อ นาง พ. ยื่นแบบ ภ.พ.09 แจ้งเลิกประกอบกิจการในวันที่ 17 สิงหาคม
2543 และมิได้ประกอบกิจการอื่นที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หากปรากฏว่านาง พ. ขายสินค้า
คงเหลือและหรือทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการไปหมดแล้ว นาง พ. จึงไม่มีสินค้าคงเหลือและหรือ
ทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกประกอบกิจการ นาง พ. มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ของเดือนภาษีสิงหาคม 2543 สำหรับยอดขายสินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สิน
ที่ได้ขายไปทั้งหมดในวันที่ 4 สิงหาคม 2543 ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่านาง พ. ได้นำมูลค่าของสินค้า
คงเหลือและทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการทั้งหมดไปยื่นแบบภ.พ.30 แล้ว นาง พ. จึงไม่ต้องรับผิด
เสียเบี้ยปรับตามมาตรา 89(3) มาตรา 89(4) และมาตรา 89(5)แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 65/31354

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020