เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ./2976
วันที่: 4 เมษายน 2545
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการชดเชยสินค้า
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(8), มาตรา 79/3(1), มาตรา 82/4
ข้อหารือ: บริษัท ก. เป็นบริษัทในเครือบริษัท ซิเมนต์ไทย จำกัด ประกอบกิจการผลิตสินค้ากระเบื้องมุง
หลังคา บริษัทฯ มีวิธีการจำหน่าย 2 ทาง คือ
1. ขายสินค้าให้ลูกค้าผู้ใช้โดยตรง
2. ขายสินค้าให้บริษัท ซ. ซึ่งเป็นบริษัทผู้จัดจำหน่ายสินค้าของเครือซิเมนต์ไทย โดยบริษัท
ซ. ขายสินค้าให้ผู้แทนจำหน่ายสินค้าของเครือซิเมนต์ไทย (เอเย่นต์) แล้วเอเย่นต์ขายสินค้าต่อให้ลูกค้า
ผู้ใช้โดยตรง
การขายสินค้าดังกล่าวเมื่อเกิดปัญหาเกี่ยวกับสินค้า เช่น สีผิดจากมาตรฐานที่กำหนด หรือ
สินค้าแตกหักง่ายกว่ามาตรฐานที่กำหนด ฯลฯ ซึ่งบริษัทฯ ได้รับคำร้องเรียน บริษัทฯ จะส่งพนักงานของ
บริษัทฯ ไปตรวจสอบที่สถานที่ใช้งาน เช่น บ้านของลูกค้าผู้ใช้ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและผลเสียหายที่
เกิดขึ้นและถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน หากผลการตรวจสอบพบว่าปัญหาของสินค้าเป็นกรณีที่บริษัทฯ ต้อง
รับผิดชอบในฐานะผู้ผลิต บริษัทฯ จะส่งสินค้าประเภทและจำนวนเดียวกับสินค้าที่เกิดปัญหาให้ลูกค้าผู้ใช้
ซึ่งการพิจารณาชดเชยสินค้าดังกล่าว บริษัทฯ ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการรับประกันคุณภาพสินค้าเป็น
ระเบียบไว้อย่างชัดเจน
บริษัทฯ เข้าใจว่า การชดเชยสินค้าให้ลูกค้าผู้ใช้เนื่องจากการรับประกันคุณภาพสินค้า ถือเป็น
การนำสินค้าไปใช้ในกิจการของบริษัทฯ โดยตรง ไม่ถือเป็นการขายสินค้าและไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตามมาตรา 77/1(8)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย: กรณีบริษัทฯ ขายสินค้าให้ลูกค้าผู้ใช้โดยตรง หรือขายสินค้าให้เอเย่นต์เพื่อขายสินค้าต่อให้
ลูกค้าผู้ใช้โดยตรงแล้ว หากสินค้ามีปัญหาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บริษัทฯ กำหนดการรับประกันสินค้า
บริษัทฯ จะส่งสินค้าประเภทและจำนวนเดียวกับสินค้าที่เกิดปัญหาให้ลูกค้าผู้ใช้โดยตรง ไม่เข้าลักษณะเป็น
การนำสินค้าไปใช้ในการผลิตสินค้า การให้บริการ การบริหารงานของกิจการ หรือเพื่อประโยชน์ของ
ทรัพย์สินที่มีไว้ในการประกอบกิจการของตนเอง ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ฉบับที่ 1) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการนำสินค้าไปใช้เพื่อการประกอบกิจการของ
ตนเองโดยตรงตามมาตรา 77/1(8)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2534 แต่
เป็นการขายตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจาก
ลูกค้าเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น โดยมูลค่าของฐานภาษีสำหรับการขายสินค้า
ดังกล่าว ให้ถือตามราคาตลาดของสินค้าในวันที่ความรับผิดเกิดขึ้นตามมาตรา 79/3(1) และมาตรา
82/4 แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัทฯ ต้องนำภาษีขายดังกล่าวมาเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณจาก
ภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษีตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 65/31353

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020