เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/2836
วันที่: 3 เมษายน 2545
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย กรณีเงินช่วยเหลือค่าถังก๊าซหุงต้มให้กับผู้ค้าก๊าซ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(8), มาตรา 50(4), มาตรา 77/1(8)
ข้อหารือ: 1. สพช. สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กรมบัญชีกลาง)
เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการขจัดถังขาวออกจากตลาด โดยจ่ายให้ผู้ค้าก๊าซตามมาตรา 7 ในอัตราร้อยละ
50 ของค่าใช้จ่ายในการจัดหาถังก๊าซใหม่มาแลกถังขาว โดยประมาณการว่าถังก๊าซหุงต้มใหม่ราคาใบละ
600 บาท จำนวน 2 ล้านใบ เท่ากับ 1,200 ล้านบาท รัฐบาลช่วยเหลือ ในอัตราร้อยละ 50 เท่ากับ
600 ล้านบาท โดยทยอยจ่ายทีละพื้นที่เป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี
2. ในการจ่ายเงินช่วยเหลือให้ผู้ค้าก๊าซต้องสั่งซื้อถังจากโรงงานผลิต และจ่ายเงินค่าถังไป
ก่อนทั้งหมด (ฝ่ายเดียว) และส่งถังไปจังหวัดต่างๆ เพื่อเตรียมแลกกับประชาชน เมื่อคณะกรรมการ
จังหวัดได้ตรวจนับถังดังกล่าว และยืนยันมาที่ สพช. สพช. จึงจะจ่ายเงินครึ่งหนึ่งในส่วนของรัฐให้ผู้ค้า
ก๊าซ
สพช. จึงหารือว่า การจ่ายเงินช่วยเหลือค่าถังก๊าซหุงต้มให้กับผู้ค้าก๊าซ ในฐานะ ผู้จ่ายเงิน
อยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย พร้อมทั้งนำส่งกรมสรรพากรหรือไม่ และบริษัท ผู้ค้าก๊าซซึ่งรับ
เงินช่วยเหลือจาก สพช. จะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจาก สพช. หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เนื่องจากเงินช่วยเหลือที่ผู้ค้าก๊าซได้รับจาก สพช. เข้า
ลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อ สพช. จ่ายเงินช่วยเหลือฯ
ให้แก่ผู้ประกอบการซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1.0
ตามมาตรา 50(4) แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีจ่ายเงินช่วยเหลือฯ ให้แก่ผู้ประกอบการซึ่งเป็น
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ก็มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1.0 ตามมาตรา 69
ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากการให้เงินช่วยเหลือค่าถังก๊าซให้กับผู้ค้าก๊าซตามข้อเท็จจริง
ข้างต้น ไม่ใช่ค่าตอบแทนที่ผู้ค้าก๊าซได้รับเนื่องจากการขายสินค้าหรือให้บริการตามมาตรา 77/1(8)
และ (10) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่เป็นมูลค่าของฐานภาษี และไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตามมาตรา 79 และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 65/31343

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020