เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/3092
วันที่: 18 เมษายน 2545
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย กรณีการขายโปรแกรมคอมพิวเตอร์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(3), มาตรา 40
ข้อหารือ: กรณีบริษัท บ. ซึ่งประกอบกิจการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระบบบัญชี
สำเร็จรูป EASY-ACC ผ่านตัวแทนจำหน่ายหรือฝากขายตามร้านหนังสือทั่วไป ไม่ได้รับจ้างเขียน
โปรแกรมคอมพิวเตอร์เฉพาะกิจการใดกิจการหนึ่ง ผู้ซื้อสามารถซื้อสินค้าไปติดตั้งด้วยตัวเองหรือสั่งซื้อ
จากตัวแทนจำหน่าย ซึ่งตัวแทนจำหน่ายจะมีบริการติดตั้งแก่ผู้ซื้อ ในกรณีลูกค้าไม่พอใจสินค้าก็สามารถคืน
ได้ภายใน 30 วัน สภ.1 จึงหารือว่า
1. การขายสินค้าผ่านตัวแทนจำหน่ายซึ่งมีการจำหน่ายไปยังผู้ขายรายย่อยอื่นๆ อีก การหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจะต้องหักเป็นทอด ๆ นั้น จะถือว่าเป็นการหักซ้ำกันในสินค้าชิ้น เดียวกันหรือไม่
2. การคืนหรือเปลี่ยนสินค้าที่ลูกค้าซื้อไปจะต้องมีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทุกครั้งหรือไม่
3. การที่ตัวแทนจำหน่ายซึ่งเป็นผู้จำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ได้รวมโปรแกรมคอมพิวเตอร์
ระบบบัญชีสำเร็จรูปของบริษัทฯ เข้าไปกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ขายให้กับลูกค้า จะถือเป็นการขายพร้อม
ติดตั้งซึ่งไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่
4. การขายโปรแกรมสำเร็จรูปกรณีดังกล่าวนี้จะถือเป็นการขายงานอันมีลิขสิทธิ์ ให้แก่ผู้ซื้อ
หรือไม่ และต้องอยู่ในบังคับถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่
แนววินิจฉัย: กรณีบริษัทฯ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระบบบัญชีสำเร็จรูป โดยจะผลิตออก
มาเก็บในสต๊อคและจำหน่ายตามคำสั่งซื้อของ ลูกค้าดังกล่าวนี้ ถือว่าเป็นการขายสินค้าประเภทโปรแกรม
คอมพิวเตอร์ (Software) ที่ขายทั่วไป ราคาค่าซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวจึงเป็น
เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร อันอยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่าย ตามข้อ 3/2 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตาม
มาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 ซึ่ง
แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.101/2544 ฯลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2544 ดังนั้น
1. กรณีการขายสินค้าผ่านตัวแทนจำหน่ายและตัวแทนอาจจำหน่ายผ่านไปยังผู้ขายรายย่อยอื่น
ๆ เงินได้ที่ได้รับทุกทอดนี้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องถูก
หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทุกทอด และแม้จะเป็นการหักภาษีในสินค้า ชิ้นเดียวกันหลายครั้งก็ไม่ถือว่าเป็น
การหักซ้ำกัน เนื่องจากการขายในแต่ละทอดจะมีการกำหนดราคาขายที่แตกต่างกันไปและจะมีการหักภาษี
จากราคาที่แตกต่างกันนั้น
2. กรณีการคืนหรือเปลี่ยนสินค้านั้นหากเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าชนิดและประเภท
เดียวกันโดยราคาไม่เปลี่ยนแปลง ลูกค้าไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด เนื่องจากเป็น
การกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าชนิดและประเภทเดิมโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใหม่ แต่อย่างใด แต่หาก
เป็นกรณีที่การคืนหรือเปลี่ยนสินค้านั้นลูกค้าได้รับสินค้าชนิดและประเภทใหม่หรือได้รับสินค้าชนิดและ
ประเภทเดิมแต่ราคาเปลี่ยนแปลงแตกต่างจากเดิม กรณีนี้ลูกค้ามีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
สำหรับราคาค่าตอบแทนที่ได้ชำระให้แก่บริษัทฯ เนื่องจากเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าชิ้นใหม่
และบริษัทฯ ก็ได้รับค่าตอบแทนจำนวนใหม่ด้วย
3. กรณีตัวแทนจำหน่ายได้รวมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของบริษัทฯ เข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่
ขายแก่ลูกค้านั้น เนื่องจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของบริษัทฯ ไม่ใช่โปรแกรมพื้นฐานของ
เครื่องคอมพิวเตอร์เช่นระบบ Dos หรือ Windows ซึ่งเป็นโปรแกรมพื้นฐานอันจำเป็นก่อนจะนำ
โปรแกรมอื่น ๆ มาใช้ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของบริษัทฯ จึงไม่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ
เครื่องคอมพิวเตอร์และยังคงถือว่าเป็นการจ่ายค่าตอบแทนการซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Software)
อันเป็นการจ่ายค่าแห่งลิขสิทธิ์ตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้
ณ ที่จ่าย
4. โปรแกรมสำเร็จรูปที่จัดจำหน่ายนี้แม้จะมิใช่การรับจ้างเขียนเพื่อกิจการใดโดยเฉพาะ ก็
ยังถือว่าเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และแม้ผู้ซื้อไป ใช้งานจะไม่ได้รับ
ลิขสิทธิ์ไปเป็นของตนเองโดยเด็ดขาด แต่การซื้อดังกล่าวก็ยังถือว่าเป็นการซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์
(Software) และราคาที่จ่ายถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร อันอยู่
ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
เลขตู้: 65/31374


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020