เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811(กม.03)/366
วันที่: 9 เมษายน 2545
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีชะลอการดำเนินการเกี่ยวกับข้อมูลเงินได้ที่เป็นส่วนลด
ข้อกฎหมาย: มาตรา 19, มาตรา 27
ข้อหารือ: 1. ด้วย สม. แจ้งว่า บริษัท ท ได้มีหนังสือขอความอนุเคราะห์ชะลอการดำเนินการเกี่ยวกับ
ข้อมูลเงินได้ที่เป็นส่วนลดและส่วนลดพิเศษที่ได้รับจากระบบขายตรง โดยอ้างว่า กรณีดังกล่าวเป็นปัญหา
ข้อกฎหมาย ซึ่งบริษัทฯ ได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินดังกล่าวต่อกรมสรรพากรและคณะกรรมการวินิจฉัย
อุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยว่า ส่วนลดและส่วนพิเศษที่บริษัทฯ จ่ายนั้น เข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากการรับ
ทำงานให้ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางเมื่อวันที่
25 มกราคม 2545 และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลภาษีอากรกลาง บริษัทฯ เห็นว่า บริษัทฯ
ประกอบกิจการมามากกว่า 26 ปี และได้เสียภาษีอากรมาโดยตลอด หากบริษัทฯ จะถูกประเมินภาษี
ในประเด็นดังกล่าว บริษัทฯ จะได้รับความเดือดร้อนในระดับหนึ่งแล้ว และหากผู้ซื้อสินค้าจากบริษัทฯ
จำนวน 300 ราย จะถูกประเมินภาษีอีก ธุรกิจของบริษัทฯ จะขาดความเชื่อมั่น ทำให้เกิดผลเสียหายใน
วงกว้าง บริษัทฯ จึงขอให้กรมสรรพากรชะลอการดำเนินการเกี่ยวกับข้อมูลเงินได้ที่เป็นส่วนลดให้กับ
ลูกค้าไปก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด สม. จึงขอทราบว่า กรณีดังกล่าวจะมีผลกระทบด้าน
กฎหมายเช่นใด
2. กระผมได้พิจารณาแล้วขอเรียนว่า ผลกระทบทางด้านกฎหมาย กรณีชะลอการประเมินภาษี
อากรมีดังนี้
2.1 อำนาจออกหมายเรียกผู้ยื่นรายการนั้นมาไต่สวน จะต้องกระทำภายในเวลาสองปี
นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ ทั้งนี้ ตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร การชะลอการออกหมายเรียก
อาจจะทำให้ขาดอายุความในการออกหมายเรียก ซึ่งอาจกระทบการประเมินภาษีอากร
2.2 การชะลอการประเมินภาษีอากร อาจส่งผลให้ผู้ถูกประเมินต้องรับผิดในส่วนของ
เงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากรเป็นจำนวนที่มากขึ้น
แนววินิจฉัย:
เลขตู้: 65/31360


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020