เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811(กม.03)/379
วันที่: 1 เมษายน 2545
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายเงินค่าเช่าเรือเดินทะเลที่ใช้ในการขนส่งระหว่างประเทศและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้ของคนประจำเรือ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 70, กฎกระทรวง ฉบับที่ 204 (พ.ศ. 2539)ฯ
ข้อหารือ: สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชยนาวีได้ขอให้กรมสรรพากรพิจารณาสนับสนุนกิจการ
การพาณิชยนาวีดังนี้
ข้อ 1 ขยายระยะเวลาการลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เป็นค่าเช่าเรือเดินทะเลที่ใช้
ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการ
ลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 299) พ.ศ.2539 ออกไปอีก 5 ปี จากเดิมที่กำหนดระยะเวลา
ลดหย่อนอัตราภาษีดังกล่าวไว้ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2539 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2544 เพื่อเป็นการ
สร้างเสริมความสามารถในการหาตลาดและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันเพื่อให้กองเรือพาณิชย์ไทยเพิ่มขึ้น
โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชยนาวีเห็นว่า การช่วยเหลือผู้ประกอบการเรือไทยด้วยการ
ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เป็นค่าเช่าเรือเดินทะเลที่ใช้ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศลงเหลือ
ร้อยละ 1 ยังมีความจำเป็นอยู่ เนื่องจาก
(1) การเดินเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก โดย
เฉพาะอย่างยิ่งการซื้อเรือ
(2) การเช่าเรือต่างชาติและมีสิทธิเสมือนเรือไทยตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติ
ส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ. 2521 เป็นการให้สิทธิการเช่าเรือโดยไม่เกิน 2 เท่าของระวางเรือ
ไทยที่ให้บริการในเส้นทางนั้น ซึ่งวัตถุประสงค์ของมาตรการดังกล่าว เพื่อให้เพิ่มขีดความสามารถในการ
ให้บริการแก่เรือไทย เนื่องจากการมีอยู่ของบริการในระยะเวลาที่ต้องการใช้บริการเป็นปัจจัยสำคัญใน
การใช้บริการ นอกจากนั้น ยังเป็นไปเพื่อให้สินค้าราชการ/รัฐวิสาหกิจที่ต้องขนโดยเรือไทยในเส้นทาง
บังคับสามารถส่งมอบได้ทันการ ไม่เกิดความเสียหายแก่ราชการ/รัฐวิสาหกิจผู้ใช้บริการ
(3) การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เป็นค่าเช่าเรือเดินทะเลที่ใช้ขนส่งสินค้า
ระหว่างประเทศตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวแล้วข้างต้นเป็นการลดหย่อนให้เฉพาะกับการเช่าเรือ
ต่างชาติเพื่อมาเสริมระวางเรือของเรือไทยที่ให้บริการอยู่ ซึ่งการอนุญาตให้เช่าดังกล่าว สำนักงาน
คณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชยนาวีได้พิจารณาถึงความจำเป็นที่ต้องมีการเช่าเรือดังกล่าวซึ่งเป็นไป
เพื่อประโยชน์ในการขนสินค้านำเข้าของภาคราชการหรือรัฐวิสาหกิจ และประโยชน์ในการพัฒนาและ
ขยายกองเรือพาณิชย์ไทยในระยะยาวต่อไป กล่าวคือ
- เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียแก่ราชการหรือรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นเจ้าของสินค้าไม่ให้ได้
รับความเสียหายจากความล่าช้าหรือไม่สามารถขนสินค้าได้ทันกับความต้องการของทางราชการ
- เพื่อเป็นการสงวนรายได้ค่าระวางเรือให้อยู่ในประเทศ
- เพื่อเป็นการประหยัดค่าขนส่งสินค้า
เนื่องจากโดยปกติผู้เช่าเรือ (บริษัทเรือไทย) ต้องเป็นผู้เสียภาษีให้แก่เจ้าของเรือต่างชาติที่เช่ามาซึ่ง
จะเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนค่าขนส่งของเรือไทย
ดังนั้นเพื่อเป็นการผ่อนคลายภาระการลงทุนให้กับผู้ประกอบการเรือไทยที่ในการให้บริการ
จำเป็นต้องมีเรือจำนวนหลายลำเพื่อให้การบริการมีประสิทธิภาพและมีความสามารถในการแข่งขันทั้งด้าน
ความถี่และราคาการบริการ ประกอบกับกิจการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ
และความสามารถของการแข่งขันในการส่งออกของประเทศในระยะยาว สำนักงานคณะกรรมการ
ส่งเสริมการพาณิชยนาวีจึงได้ขอขยายระยะเวลาการลดหย่อนภาษีตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นค่าเช่าเรือเดินทะเลที่จ่ายให้แก่เรือเช่าต่างประเทศออกไปอีก 5 ปี
ข้อ 2 การประกอบกิจการขนส่งสินค้าทางเรือของเจ้าของเรือไทยจำนวนมากมีการให้บริการ
ขนส่งสินค้าในสองลักษณะบนเรือลำเดียวกัน กล่าวคือในบางเที่ยวเรือจะขนส่งสินค้าจากที่แห่งหนึ่งใน
ราชอาณาจักรไปยังที่แห่งหนึ่งนอกราชอาณาจักร (การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ) แต่ในบางเที่ยวเรือ
เป็นการขนสินค้าจากที่แห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่งภายในราชอาณาจักร ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับรายได้
ของคนประจำเรือนั้นว่าจะได้รับการปฏิบัติในเรื่องการยกเว้นภาษีเงินได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 204
(พ.ศ. 2539) อย่างไร ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชยนาวีเห็นว่า ปัจจุบันคนประจำ
เรือพาณิชย์มีความขาดแคลนและมีผู้สนใจเรียนน้อยและอยู่ในอาชีพคนเรือไม่นาน เนื่องจากเป็นอาชีพที่มี
ความเสี่ยงสูง ทั้งจากภัยธรรมชาติ และภัยโจรสลัด และการทำงานบนเรือพาณิชย์ต้องการผู้ที่มีความรู้ที่
ได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากล โดยในปัจจุบันคนประจำเรือพาณิชย์ทุกคนทั้งเรือเดินในประเทศและ
ระหว่างประเทศต้องมีประกาศนียบัตรวิชาชีพตามระดับตำแหน่งงานในเรือ ซึ่งจะมีความแตกต่างกันตาม
ชนิดและขนาดเรือรวมถึงขอบเขตการเดินเรือ และในการเลื่อนระดับชั้นตำแหน่งก็ต้องมีคุณสมบัติตามที่
กำหนดไว้ในแต่ละระดับ ซึ่งขั้นตอนและความก้าวหน้าในอาชีพต้องมีครบทั้งประสบการณ์และความรู้ที่จะ
สามารถใช้เลื่อนชั้นประกาศวิชาชีพได้ ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการพาณิชยนาวีโดยเฉพาะ
การขยายกองเรือพาณิชย์ไทย ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีกำลังคนประจำเรือที่เพียงพอและมีคุณภาพเพื่อรองรับ
การขยายตัวของกองเรือพาณิชย์ไทยอย่างยั่งยืน
ด้วยเหตุผลดังกล่าวสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชย์นาวีจึงได้ขอให้กรมสรรพากร
พิจารณาให้ยกเว้นภาษีเงินได้คนประจำเรือเป็นการทั่วไป ไม่เฉพาะเรือเดินระหว่างประเทศ เพื่อเป็น
การส่งเสริมและพัฒนากิจการพาณิชยนาวีของไทยให้สามารถขยายกองเรือได้สมดังวัตถุประสงค์การ
ส่งเสริมกิจการพาณิชยนาวีของประเทศ โดยให้การสนับสนุนอาชีพคนประจำเรือไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ทำงานบน
เรือเดินในประเทศหรือระหว่างประเทศ เพื่อเป็นการจูงใจให้มีผู้เรียนและเข้าสู่อาชีพมากขึ้นโดยเฉพาะ
อย่างยิ่งคนเก่งรวมถึงเป็นสิ่งจูงใจให้คนทำงานในเรือพาณิชย์นานขึ้นด้วย
แนววินิจฉัย: 1. พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดและยกเว้นรัษฎากร
(ฉบับที่ 299) พ.ศ.2539 ได้ตราขึ้นด้วยเหตุผลว่าโดยที่เป็นการสมควรลดอัตราภาษีเงินได้ที่นำมา
คำนวณภาษีเงินได้ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นค่าเช่า
เรือเดินทะเลที่ใช้ในการขนส่งระหว่างประเทศ เพื่อเป็นการส่งเสริมกิจการพาณิชยนาวีของประเทศให้มี
การพัฒนาและขยายกองเรือเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ เฉพาะค่าเช่าเรือที่มีการจ่ายระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม
2539 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2544 รวม 5 ปี ซึ่งปัจจุบันได้พ้นกำหนดระยะเวลาการลดภาษีสำหรับ
เงินได้พึงประเมินที่เป็นค่าเช่าเรือเดินทะเลที่ใช้ในการขนส่งระหว่างประเทศตามพระราชกฤษฎีกาฯ
ฉบับดังกล่าวแล้ว
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศที่ได้รับเงินได้พึงประเมินจากค่าเช่าเรือเดินทะเลที่
ใช้ในการขนส่งระหว่างประเทศจะต้องเสียภาษีตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งผู้จ่ายมีหน้าที่
ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 การลดภาษีสำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็น
ค่าเช่าเรือเดินทะเลที่ใช้ในการขนส่งระหว่างประเทศให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศลง
คงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 1 นั้น กระผมมีความเห็นว่าเพื่อเป็นการผ่อนคลายภาระการลงทุนให้แก่
ผู้ประกอบการเรือไทยที่จำเป็นต้องมีเรือหลายลำในการประกอบกิจการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศ
แต่ผู้เช่าเรือต้องเป็นผู้เสียภาษีแทนเจ้าของเรือต่างชาติที่เช่ามาซึ่งผู้เช่าเรือก็ได้นำมาเป็นส่วนหนึ่งของ
ต้นทุนค่าขนส่ง จึงเห็นสมควรขยายเวลาการลดอัตราภาษีเงินได้จากค่าเช่าเรือเดินทะเลที่ใช้ใน
การขนส่งระหว่างประเทศให้ตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชยนาวีร้องขอ แต่ทั้งนี้
เนื่องจากการลดอัตราภาษีลงอาจมีผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีอากรของรัฐได้ ดังนั้น จึงเห็นควรส่ง
เรื่องให้ สผ.พิจารณาก่อนที่จะได้ดำเนินการต่อไป
2. กฎกระทรวง ฉบับที่ 204 (พ.ศ. 2539) บัญญัติให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับ "เงินได้
ส่วนที่เป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างที่คนประจำเรือได้รับเนื่องจากการปฏิบัติงานบนเรือไทย ตามกฎหมาย
ว่าด้วยการส่งเสริมการพาณิชย์นาวีที่ใช้ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ" ซึ่งกรมสรรพากรได้เคย
วินิจฉัยไว้ว่า กฎกระทรวงดังกล่าวเป็นกรณีการส่งเสริมการขนส่งทางทะเลที่กระทำเป็นอาชีพหรือเป็น
ปกติโดยเฉพาะ หากได้ใช้เรือไทยเพื่อการขนส่งสินค้าในน่านน้ำไทยเป็นประจำ และใช้เรือไทยเพื่อ
การขนส่งไปยังต่างประเทศเป็นครั้งคราว จะไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวงนี้ กระผมมีความเห็นว่า
เงินได้ส่วนที่เป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างที่คนประจำเรือจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตาม
กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวนั้น จะต้องเป็นเงินได้ที่ได้รับเนื่องจากการปฏิบัติงานบนเรือไทยที่ใช้ใน
การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเท่านั้น หากเป็นเงินได้ส่วนที่เป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างที่คนประจำเรือได้
รับเนื่องจากการปฏิบัติงานบนเรือไทยที่ใช้ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศบ้างและขนส่งสินค้าใน
ประเทศบ้างจะไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว
เลขตู้: 65/31347

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020