เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/ก.191
วันที่: 12 เมษายน 2545
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีจดทะเบียนถอนคืนการให้ตามคำสั่งศาล
ข้อกฎหมาย: มาตรา 39, มาตรา 50(5)(ก), มาตรา 91/1(4)
ข้อหารือ: สำนักงานที่ดินจังหวัดได้หารือ กรณี นาง ส. ได้นำโฉนดที่ดินจังหวัดนนทบุรี ซึ่งนาง ส. ได้
จดทะเบียนให้ที่ดินแก่ นางสาว ว. บุตรชอบด้วยกฎหมาย เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2535 ปัจจุบันมีชื่อ
นางสาว ว. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ไปขอจดทะเบียนถอนคืนการให้ เพราะเหตุประพฤติเนรคุณตาม
คำพิพากษาศาลจังหวัดลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2543 ซึ่งพิพากษาให้นาง จ. (หรือนาง ว.)
จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ถอนคืนการให้ที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าวแก่นางสุดใจ ต่างใจ พนักงานเจ้าหน้าที่
ได้แจ้งให้ผู้ขอถอนคืนการให้เสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย แต่นาง ส. ผู้ขอถอนคืนการให้ยืนยันว่า การ
จดทะเบียนถอนคืนการให้ตามคำพิพากษาของศาล มิใช่การซื้อขายและไม่มีค่าตอบแทนโดยเป็นการ
ทำนิติกรรมให้กลับสู่สภาพเดิม ไม่ถือเป็นรายได้ของผู้ถอนคืนการให้ ไม่ควรจะต้องเสียภาษีเงินได้หัก ณ
ที่จ่าย
แนววินิจฉัย: 1. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินไปเป็นของผู้ให้โดยการถอน
คืนการให้ตามคำสั่งศาล เข้าลักษณะเป็นการ "ขาย" ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ต้องหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร
2. ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินไปเป็นของผู้ให้โดยการถอนคืนการ
ให้ตามคำสั่งศาล เข้าลักษณะเป็นการ "ขาย" ตามมาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น หาก
เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินคืนให้แก่ผู้ให้ภายใน 5 ปีนับแต่วันที่ผู้รับให้ได้มาซึ่งที่ดินนั้น ย่อมอยู่ในบังคับ
ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4(6) แห่ง
พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็น
ทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541
เลขตู้: 65/31362

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020