เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/2837
วันที่: 3 เมษายน 2545
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการได้รับค่าตอบแทนของลูกจ้างขององค์การสหประชาชาติ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(1), พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10), มาตรา 41 วรรคหนึ่ง
ข้อหารือ: กรณี นาย ฐ. ทำงานเป็นลูกจ้างขององค์การสหประชาชาติ (UNDP) ได้รับเงินเดือน ๆ ละ
38,360 บาท สัญญาจ้างแรงงานมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2544 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2545
องค์การฯ จ่ายค่าจ้างโดยการนำเงินค่าจ้างเข้าบัญชีของนาย ฐ. ซึ่งเปิดบัญชีไว้กับธนาคารโดยมิได้หัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและมิได้ออกหนังสือรับรองรายได้ให้ นาย ฐ. จึงหารือว่าจะต้องเสียภาษีเงินได้
จำนวนเท่าใด และอย่างไร
แนววินิจฉัย: กรณีตามข้อเท็จจริง นาย ฐ. เป็นลูกจ้างรายปีขององค์การฯ ซึ่งในสัญญาจ้างข้อ 5 ระบุว่า
ลูกจ้างรายปีไม่ใช่เจ้าหน้าที่ขององค์การฯ และข้อ 6 ระบุว่าให้ลูกจ้างเป็นผู้มีหน้าที่ความรับผิดในการ
เสียภาษีเงินได้ ดังนั้น นาย ฐ. จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา 4(1) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับ
ที่ 10) และเงินค่าจ้างที่ได้รับจากองค์การฯ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่ง
ประมวลรัษฎากร โดยนายฐิติพันธุ์ ต้องยื่นแบบแสดงรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับ
ในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้วพร้อมทั้งข้อความอื่น ๆ ภายในเดือนมีนาคมของทุก ๆ ปีตามแบบที่อธิบดี
กำหนดตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 65/31344


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020