เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/2806
วันที่: 2 เมษายน 2545
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการขอยกเว้นภาษีเงินเดือน ค่าชดเชย และค่าบอกกล่าวล่วงหน้า
ข้อกฎหมาย: กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ, มาตรา 48(5), มาตรา 48(1)(2)
ข้อหารือ: นาย A ได้ยื่นคำร้องต่อนายกรัฐมนตรี กรณีนาย A ซึ่งทำงานเป็นพนักงานบริษัท ก. ระหว่าง
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 16 ตุลาคม 2544 บริษัทฯ ได้ให้นาย A ออกจากงานตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม
2544 และได้ทำข้อตกลงประนีประนอมลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2544 ที่สำนักงานสวัสดิการและ
คุ้มครองแรงงาน โดยนาย A ไม่ได้แสดงเจตนาขอลาออกจากงาน และได้รับเงินเดือนรวม 268,434
บาท ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 9,754 บาท ค่าชดเชย 28,000 บาท และค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 15,000
บาท ภริยาไม่มีเงินได้ และมีบุตรเรียนหนังสือ 1 คน นาย A ขอให้พิจารณายกเว้นภาษีเงินได้จาก
เงินเดือน ค่าชดเชย และค่าบอกกล่าวล่วงหน้า
แนววินิจฉัย: 1. ค่าชดเชยการเลิกจ้าง ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และไม่ได้แสดงเจตนา
ขอลาออกจากงาน เข้าลักษณะเป็นค่าชดเชยซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2(51)
ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 217 (พ.ศ.
2542)ฯ เฉพาะส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้าย แต่ไม่เกิน
สามแสนบาท
2. ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าการเลิกจ้าง เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1)
แห่งประมวลรัษฎากร มีระยะเวลาทำงานไม่ครบ 5 ปี ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้อ 2(ก) ของ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2535 จึง
ไม่มีสิทธิเลือกคำนวณภาษีตามหลักเกณฑ์สำหรับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตาม
มาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องนำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีกับ เงินได้ประเภทอื่น
ตามมาตรา 48(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร
3. เงินเดือน เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ผู้มีเงินได้ต้องนำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้ประเภทอื่นตามมาตรา 48(1) และ (2)
แห่งประมวลรัษฎากร
4. เงินได้ตามข้อ 2. และข้อ 3. ไม่มีบทบัญญัติใดของกฎหมายให้อำนาจกรมสรรพากร
ยกเว้นภาษีเงินได้ให้ได้ กรมสรรพากรจึงไม่อาจพิจารณาอนุมัติตามคำขอของนาย A ได้
เลขตู้: 65/31339


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020