เลขที่หนังสือ | : กค 0811(กม.06)/353 |
วันที่ | : 27 มีนาคม 2545 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการซื้อเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 65, มาตรา 65 ทวิ (4), มาตรา 65 ตรี (13), มาตรา 77/1(8), มาตรา 79, มาตรา 82, มาตรา 86 |
ข้อหารือ | : บริษัท อ. เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริษัทฯ มีความประสงค์จะซื้อเครื่องโทรศัพท์ เคลื่อนที่เพื่อนำไปให้บริการแก่ผู้ใช้บริการที่เป็นหน่วยงานราชการหรือบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความต้องการใช้ บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในแต่ละคราวเป็นจำนวนมาก โดยบริษัทฯ จะซื้อจากบริษัทผู้จำหน่าย เครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามยี่ห้อหรือรุ่นที่ผู้ใช้บริการต้องการให้ นำมาให้บริการ ซึ่งจะเป็นราคาที่ถูกกว่าราคาขายปลีกในท้องตลาดเนื่องจากเป็นการซื้อในจำนวนมาก ทั้งนี้ ในการให้บริการดังกล่าว บริษัทฯ จะทำสัญญาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งมีสาระสำคัญว่า บริษัทฯ ต้องส่งมอบเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามยี่ห้อ รุ่น และจำนวนที่ตกลงกันให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใช้บริการ โดยไม่คิดมูลค่า ซึ่งจะมีเงื่อนไขว่าผู้ใช้บริการจะต้องใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัทฯ เป็น ระยะเวลาอย่างน้อยตามที่กำหนด เช่น ไม่น้อยกว่า 3 ปี เป็นต้น และบางรายอาจจะมีเงื่อนไขของการ จ่ายค่าใช้บริการขั้นต่ำต่อเดือนอีกด้วย นอกจากนี้หากผู้ใช้บริการเลิกใช้บริการก่อนครบระยะเวลาที่ กำหนด ผู้ใช้บริการต้องชำระค่าขาดประโยชน์เป็นรายวันของระยะเวลาที่เหลืออยู่ของสัญญาตามอัตราที่ กำหนด บริษัทฯ หารือว่า 1. การส่งมอบเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้แก่ผู้ใช้บริการตามสัญญา ถือเป็นการจำหน่ายจ่าย โอนทรัพย์สินโดยไม่คิดมูลค่าโดยมีเหตุอันสมควรตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ 2. บริษัทฯ จะต้องนำรายจ่ายค่าซื้อเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าว มาลงเป็นรายจ่ายทั้ง จำนวนในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการซื้อเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือจะต้องบันทึกเป็นรายจ่ายรอการตัด บัญชีและทยอยลงเป็นรายจ่ายตามระยะเวลาของสัญญา 3. บริษัทฯ จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและออกใบกำกับภาษีสำหรับการส่งมอบเครื่องโทรศัพท์ เคลื่อนที่ให้แก่ผู้ใช้บริการหรือไม่ 4. ค่าขาดประโยชน์จากการที่บริษัทฯ ได้รับจากผู้ใช้บริการเนื่องจากการผิดสัญญาหรือการ เลิกใช้บริการก่อนครบกำหนด บริษัทฯ ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยหรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล (1) กรณีบริษัทฯ โอนกรรมสิทธิ์เครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ซื้อมาเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ ให้กับ ผู้ใช้บริการเพื่อรับสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัทฯ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว บริษัทฯ ต้องนำมูลค่าของ เครื่องโทรศัพท์นั้นมาถือเป็นรายได้ในการคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่ง ประมวลรัษฎากร หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าการโอนเครื่องโทรศัพท์โดยไม่คิด มูลค่าก็จะถือเป็นการ โอนทรัพย์สินโดยไม่มีค่าตอบแทนโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร (2) กรณีข้อเท็จจริง ตามสัญญาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่แนบมาเพื่อประกอบการพิจารณา นั้น บริษัทฯ จะต้องโอนกรรมสิทธิ์เครื่องโทรศัพท์ที่ซื้อมาให้แก่ผู้ใช้บริการ ในทันทีเมื่อมีการใช้บริการ ดังนั้น รายจ่ายค่าโทรศัพท์ บริษัทฯ จึงมีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการ โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ใช้บริการได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม (1) กรณีบริษัทฯ โอนกรรมสิทธิ์เครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ผู้ใช้บริการ เข้าลักษณะเป็น การขายตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ผู้ขายมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และ ออกใบกำกับภาษีเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 82 และ 86 แห่ง ประมวลรัษฎากร (2) กรณีค่าขาดประโยชน์ที่บริษัทฯ เรียกเก็บจากผู้ใช้บริการที่ปฏิบัติผิดสัญญาโดยยกเลิก การใช้บริการก่อนกำหนดที่ตกลงกัน ค่าขาดประโยชน์ดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นค่าปรับ มิใช่ผลตอบแทน จากการขายสินค้าหรือให้บริการตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด |
เลขตู้ | : 65/31330 |