เลขที่หนังสือ | : กค 0811/พ./2384 |
วันที่ | : 21 มีนาคม 2545 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการรับเหมาออกแบบระบบไฟฟ้าให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 39, มาตรา 66, มาตรา 77/1(5), มาตรา 77/1(10), มาตรา 82, มาตรา 82/4, มาตรา 85/1, มาตรา 86 |
ข้อหารือ | : บริษัท ก. จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ได้ร่วมกับบริษัท ข. ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตาม กฎหมายของประเทศนิวซีแลนด์ ทำสัญญารับเหมาออกแบบเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าให้ ทอท.บริษัทฯ ได้ออก ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีของตนเองให้ ทอท. และได้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มในนามของตนเอง อีกทั้ง เมื่อได้จ่ายเงินให้บริษัท ข. ตามข้อสัญญา บริษัทฯ ก็ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม โดย ชี้แจงรายละเอียดว่า 1. บริษัทฯ ได้ทำสัญญารับงานออกแบบสถานีหม้อแปลงจ่ายไฟฟ้าโดยมีกำหนดการรับชำระเงิน เป็น 4 งวด 2. เนื่องจากงานที่บริษัทฯ รับทำให้กับ ทอท. มีระบบซับซ้อน บริษัทฯ จึงติดต่อบริษัท ข. ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งมีประสบการณ์ในการออกแบบระบบไฟฟ้ามาร่วมงานกับบริษัทฯ โดยความเห็นชอบ ของ ทอท. ดังนั้น บริษัทฯ กับบริษัท ข. จึงได้ทำข้อตกลงร่วมงานกัน 3. เมื่อบริษัทฯ ได้รับเงินงวดแรกจาก ทอท. บริษัทฯ ได้ออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2538 ให้ ทอท. และนำส่งภาษีขายสำหรับเดือนกันยายน 2538 (ในการรับเงิน งวดแรกนี้บริษัท ข. ยังไม่ได้เข้ามาร่วมงาน) และ ทอท. ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย 1%ต่อมาเมื่อได้รับเงิน งวดที่ 2 บริษัทฯ ออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี และนำส่งภาษีขายสำหรับเดือนภาษีมกราคม 2539 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2539 ซึ่งในการรับเงินครั้งนี้ บริษัทฯ ได้จ่ายค่าจ้างงวดแรกให้บริษัท ข. ตาม ข้อตกลงระหว่างกัน โดยบริษัทฯ นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ 7% และยื่นแบบ ภ.พ.36 ทั้งนี้ ได้นำ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่นำส่งดังกล่าวมาเป็นภาษีซื้อของบริษัทฯ ในเดือนมีนาคม 2539 และได้ยื่นรายการ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด.54 สำหรับการรับเงินงวดต่อมา บริษัทฯ จะมีการดำเนินการ เช่นเดียวกับงวดที่ 2 4. บริษัทฯ ไม่ได้ประกอบกิจการร่วมค้ากับบริษัท ข. และไม่ได้รับรู้รายได้ผลประโยชน์กำไร ขาดทุนร่วมกันแต่อย่างใด ซึ่งข้อเท็จจริงที่บริษัทฯ ชี้แจงดังกล่าวขัดกับเอกสารหลักฐานสัญญา ในกรณีดังกล่าว สำนักงาน สรรพากรภาคเห็นว่า บริษัทฯ ได้ทำสัญญารับเหมาออกแบบเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าให้ ทอท. โดยให้บริษัท ข. มาเป็นที่ปรึกษาของบริษัทฯ ซึ่งสัญญาว่าจ้างเป็นที่ปรึกษา มิได้ร่วมกันในผลกำไรหรือขาดทุน แม้ว่า สัญญาจะกำหนดให้รับผิดร่วมกันในการให้บริการแก่ ทอท.ก็ตาม แต่มิได้ร่วมกันในการรับค่าตอบแทนตาม สัญญารับเหมาจาก ทอท. บริษัทฯ เป็นผู้รับค่าตอบแทนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่เพียงผู้เดียวไว้อย่าง ชัดแจ้ง กรณีจึงไม่เข้าลักษณะของกิจการร่วมค้า จึงได้หารือว่าความเห็นดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : เป็นสัญญารับเหมาออกแบบระบบไฟฟ้าระหว่าง ทอท. กับ บริษัท ข. และบริษัทฯบริษัททั้งสอง ซึ่งตามสัญญาร่วมเรียกว่า "วิศวกรออกแบบ" ตกลงที่จะร่วมกันดำเนินงาน และร่วมกันรับผิดชอบและ ร่วมกันรับผิดในการให้บริการแก่ ทอท. และ ทอท. จะชำระเงินโดยตรงให้แก่วิศวกรออกแบบ โดย สัญญาไม่ได้แบ่งแยกงานและค่าตอบแทนระหว่างกันไว้อย่างชัดเจน เช่นนี้ถือได้ว่ากิจการที่ดำเนินการ ร่วมกันระหว่างบริษัททั้ง 2 ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นกิจการร่วมค้า ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ และ บริษัท ข. ในฐานะกิจการร่วมค้ามีหน้าที่ยื่นคำขอมีเลขประจำตัวและบัตรประจำตัว ผู้เสียภาษีอากร ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีและใช้ เลขประจำตัวในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2539 และอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 66 แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อสัญญา รับเหมาออกแบบระบบไฟฟ้าดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นบริการตามมาตรา 77/1(10) แห่ง ประมวลรัษฎากร กิจการร่วมค้าจึงมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(5) มาตรา 82 และมาตรา 85/1 แห่งประมวลรัษฎากร และมีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีในนามของกิจการร่วมค้าเพื่อ เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจาก ทอท. ตามมาตรา 82/4 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 65/31320 |