เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/2258
วันที่: 18 มีนาคม 2545
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับธนาคารและบริษัทบัตรเครดิต
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(8), คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.104/2544ฯ
ข้อหารือ: บริษัท ซ. มีความประสงค์ขอผ่อนผันการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีการจ่าย
ค่าบริการที่ต้องมีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายให้กับธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ และ
บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ โดยเป็น
การจ่ายผ่านระบบการหักเงินจากบัญชีธนาคารของผู้จ่ายเงิน ซึ่งผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่ายทุกครั้งที่มีการหักเงินจากบัญชีธนาคารของผู้จ่ายเงิน โดยมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี
ณ ที่จ่าย ให้แก่ธนาคารผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย และมีหน้าที่ต้องยื่น
รายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ระบุวัน เดือน หรือ
ปีภาษีที่จ่ายเงินได้เป็นวันเดียวกันกับวันที่มีการหักเงินจากบัญชีธนาคารของผู้จ่ายเงินตาม
คำชี้แจงกรมสรรพากร เรื่อง การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.101/2544
เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่าย ลงวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2544 แต่เนื่องจากจำนวนครั้งในการหักภาษี ณที่จ่ายสำหรับ
ค่าธรรมเนียมและค่าบริการต่าง ๆ ในแต่ละเดือนมีจำนวนมาก และบริษัทฯ รับบริการบัตรเครดิตของ
ธนาคารหลายแห่ง บริษัทฯ จึงขอผ่อนผันกรณีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ค่าธรรมเนียมและค่าบริการ
ต่าง ๆ ของธนาคาร เช่น ค่าบริการบัตรเครดิตของธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิต ค่าธรรมเนียมการ
โอนเงินเพื่อชำระค่าสินค้าและค่าบริการ ค่าธรรมเนียมเช็ค L/C และ TELEX CHARGES และกรณีการ
ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณที่จ่าย โดยให้บริษัทฯ และบริษัทในเครือเดียวกัน สามารถรวบรวมหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่ธนาคารและบริษัทบัตรเครดิตทุก ๆ
สิ้นเดือน
นอกจากนี้ บริษัทฯ ขอหารือว่า กรณีการจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับธนาคารสำหรับการโอนเงิน
จากบัญชีออมทรัพย์ (Saving) ไปบัญชีกระแสรายวัน (Current) หรือการโอนเงินจาก
บัญชีกระแสรายวัน (Current) ไปบัญชีออมทรัพย์ (Saving) ถือเป็นการจ่ายค่าบริการที่บริษัทฯ จะ
ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย หรือไม่ หากบริษัทฯ จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับค่าบริการ
ดังกล่าว บริษัทฯ จะขอผ่อนผันการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยออก
หนังสือรับรองการหักภาษีหัก ณ ที่จ่าย ทุก ๆ สิ้นเดือนได้หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ และบริษัทในเครือเดียวกันจ่ายค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการต่าง ๆ ให้กับ
ธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิต ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายผ่านระบบการหักเงินจากบัญชีธนาคารของผู้จ่ายเงิน
หรือไม่ก็ตาม ถือเป็นการจ่ายค่าบริการซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่ง
ประมวลรัษฎากร บริษัทฯ และบริษัทในเครือเดียวกันมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ
3.0 ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตาม
มาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 ซึ่ง
แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.104/2544 ฯ ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2544 บริษัท
ฯ และบริษัทในเครือเดียวกันมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และมีหน้าที่ต้องยื่น
รายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย อย่างไรก็ดี เนื่องจากในแต่ละเดือนบริษัทฯ และบริษัทในเครือเดียวกัน
ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมและค่าบริการต่าง ๆ ให้กับธนาคารและบริษัทบัตรเครดิตเป็นจำนวนหลายคราว
ทำให้ไม่สามารถหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ทันภายในเวลาที่
กฎหมายกำหนด ดังนั้น เพื่อเป็นการลดภาระการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จึงผ่อนผันให้
บริษัทฯ และบริษัทในเครือเดียวกันจำนวน 11 ราย ซึ่งมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ไม่ต้องออก
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการต่าง ๆ ในทันทีทุกครั้งที่มี
การหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยให้ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย 1 ครั้งต่อเดือน แต่บริษัทฯ และ
บริษัทในเครือเดียวกันดังกล่าว ยังคงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินได้ ทั้งนี้
ตามมาตรา 50 ทวิ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร และต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
2. ค่าธรรมเนียมการโอนเงินระหว่างบัญชีออมทรัพย์ (Saving) ไปบัญชีกระแสรายวัน
(Current) หรือการโอนเงินจากบัญชีกระแสรายวันไปบัญชีออมทรัพย์ที่ธนาคารเรียกเก็บ เข้าลักษณะเป็น
การให้บริการตามสัญญาระยะยาวซึ่งไม่สามารถคำนวณค่าบริการที่จะได้รับทั้งสิ้นเป็นจำนวนที่แน่นอน แต่
ผู้รับบริการจะต้องชำระค่าบริการภายในระยะเวลาที่กำหนด หากการจ่ายค่าบริการไม่ถึงหนึ่งพันบาท
ผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่หากการจ่ายค่าบริการครั้งต่อไปซึ่งเมื่อนำไปรวมกับ
ค่าบริการครั้งที่ผ่านมาที่มีการจ่ายไปแล้วเป็นจำนวนตั้งแต่หนึ่งพันบาทขึ้นไป ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยจะต้องนำเงินค่าบริการที่จ่ายในครั้งก่อน ๆ มารวมคำนวณเพื่อหักภาษีเงินได้
ณ ที่จ่ายด้วย ซึ่งค่าบริการดังกล่าวถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร
บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 12/1 ของ
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่ง
ประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม
โดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.104/2544 ฯ ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2544 ประกอบกับ
คำชี้แจงกรมสรรพากร เรื่อง การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.101/2544
เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่าย ลงวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2544
เลขตู้: 65/31311


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020