เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ./2251
วันที่: 15 มีนาคม 2545
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขายสินค้าของผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งประกอบการอยู่ในเขตอุตสาหกรรมส่งออก
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(8), มาตรา 77/1(11), มาตรา 77/1(12), มาตรา 77/1(14), มาตรา 83/6(1), ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40)ฯ
ข้อหารือ: บริษัท อ. เป็นบริษัทที่ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการ
นิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัทฯ ผลิตสินค้าเพื่อส่งออก โดยผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่ใช้กับ
ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ หัวเครื่องพิมพ์คอมพิวเตอร์ มอเตอร์ และหม้อแปลงไฟฟ้า บริษัทฯได้รับ
คำสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทในประเทศญี่ปุ่น แต่บริษัทในประเทศญี่ปุ่นสั่งให้บริษัทฯ ส่งมอบสินค้าที่ขายให้แก่
บริษัท ข. ซึ่งเป็นลูกค้าในประเทศไทยของบริษัทในประเทศญี่ปุ่น บริษัท ข.ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
และตั้งอยู่นอกเขตอุตสาหกรรมส่งออก เมื่อบริษัทฯ ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัท ข. แล้ว บริษัท ข. จะ
ชำระเงินค่าซื้อสินค้าให้แก่บริษัทในประเทศญี่ปุ่นโดยตรง บริษัทฯหารือว่ากรณีดังต่อไปนี้ ความเข้าใจของ
บริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่
1. กรณีบริษัทฯ ประกอบการในเขตอุตสาหกรรมส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการ
นิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้นำสินค้าออกจากเขตอุตสาหกรรมส่งออกโดยมิใช่เพื่อส่งออกเข้า
ลักษณะเป็นการนำเข้า ตามมาตรา 77/1(12) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น บริษัท ข. ซึ่งเป็นผู้นำเข้า
ตามมาตรา 77/1(11) แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่ต้องยื่นกระทำพิธีการนำเข้าตามกฎหมายว่าด้วย
ศุลกากรเมื่อนำสินค้านั้นออกจากเขตอุตสาหกรรมส่งออก โดยชำระอากรขาเข้าและชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตามมาตรา 83/9 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีความเห็นว่า บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 สำหรับการขายสินค้าดังกล่าวอีก เนื่องจากมูลค่าของสินค้าดังกล่าว
เข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79(4) แห่ง
ประมวลรัษฎากร และข้อ 2(4) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40)
เรื่อง กำหนดลักษณะ และเงื่อนไข ค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา
79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 47)ฯ ลงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2536
กรณีดังกล่าว หากความเข้าใจของบริษัทฯไม่ถูกต้อง และบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับ
มูลค่าสินค้าที่ขายให้แก่บริษัทในประเทศญี่ปุ่น บริษัทฯ ขอให้กรมสรรพากรพิจารณางดเบี้ยปรับด้วย
2. กรณีบริษัทฯ ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัท ข. ในประเทศไทยตามคำสั่งของบริษัทใน
ประเทศญี่ปุ่น ถือว่าบริษัทในประเทศญี่ปุ่นขายสินค้าให้แก่บริษัท ข. ในประเทศไทยดังนั้น เมื่อบริษัท ข.
ในประเทศไทยชำระค่าสินค้าให้แก่บริษัทในประเทศญี่ปุ่น บริษัท ข. จึงมีหน้าที่ต้องนำส่งเงิน
ภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัทในประเทศญี่ปุ่นมีหน้าที่เสียภาษีตามมาตรา 83/6(1)แห่งประมวลรัษฎากร
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัท อ. ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกได้ตกลงขายสินค้าให้แก่บริษัทในประเทศญี่ปุ่น แต่ได้
ส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัท ข. ในประเทศไทยตามคำสั่งของบริษัทในประเทศญี่ปุ่น โดยที่สินค้าดังกล่าว
ไม่ได้ส่งออกนอกราชอาณาจักรเพื่อส่งไปต่างประเทศจึงไม่เข้าลักษณะเป็นการส่งออกตามมาตรา
77/1(14) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ถือเป็นการขายสินค้าในราชอาณาจักร ตามมาตรา 77/1(8) และ
มาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น บริษัท อ. มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ
7.0 ตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร โดยจะต้องจัดทำใบกำกับภาษีเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจาก
บริษัทในประเทศญี่ปุ่นตามมาตรา 82/4 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีบริษัท อ. ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัท ข. ในประเทศไทยตามคำสั่งของบริษัทใน
ประเทศญี่ปุ่น ถือว่าบริษัทในประเทศญี่ปุ่นขายสินค้าให้แก่บริษัท ข. ในประเทศไทย แต่โดยที่การนำสินค้า
ที่ต้องเสียอากรขาเข้าหรือที่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรออกจาก
เขตอุตสาหกรรมส่งออกโดยมิใช่เพื่อส่งออก เข้าลักษณะเป็นการนำเข้าตามมาตรา 77/1(12) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ดังนั้น
2.1 กรณีบริษัท ข. ซึ่งซื้อสินค้าจากบริษัทในประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้นำเข้าตามมาตรา
77/1(11) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัท ข. มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและ
ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อนำสินค้านั้นออกจากเขตอุตสาหกรรมส่งออกตามมาตรา 83/9 แห่ง
ประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อบริษัท ข. จ่ายเงินค่าซื้อสินค้าให้แก่บริษัทในประเทศญี่ปุ่น บริษัท ข. จึง
ไม่มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัทในประเทศญี่ปุ่นมีหน้าที่เสียภาษีตามมาตรา 83/6(1) แห่ง
ประมวลรัษฎากร
2.2 กรณีบริษัท อ. ซึ่งขายสินค้าให้แก่บริษัทในประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้นำเข้าตามมาตรา
77/1(11) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัท อ. มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยยื่นใบขนสินค้าขาเข้า
และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อนำสินค้านั้นออกจากเขตอุตสาหกรรมส่งออกตามมาตรา 83/9 แห่ง
ประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นการนำเข้าเพื่อขาย ดังนั้น เมื่อบริษัท ข. จ่ายเงินค่าซื้อสินค้าให้แก่บริษัทใน
ประเทศญี่ปุ่น บริษัท ข. มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัทในประเทศญี่ปุ่นมีหน้าที่เสียภาษีตามมาตรา
83/6(1) แห่งประมวลรัษฎากร
3. กรณีบริษัท อ. ได้รับค่าตอบแทนจากการขายสินค้าให้แก่บริษัทในประเทศญี่ปุ่น ค่าตอบแทน
ดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79(4)
แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 2(4) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่
40)ฯ ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 47)ฯ ลงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2536 เนื่องจากบริษัท อ. ไม่ได้ขายสินค้า
ให้แก่บริษัท ข. ในประเทศไทย แต่ขายสินค้าให้แก่บริษัทในประเทศญี่ปุ่น และบริษัทในประเทศญี่ปุ่น
ขายสินค้าดังกล่าวให้แก่บริษัท ข. ในประเทศไทย
4. กรณีบริษัท อ. ไม่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 สำหรับการขายสินค้าให้แก่
บริษัทในประเทศญี่ปุ่นตามมาตรา 77/2 และมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร และไม่ได้
จัดทำใบกำกับภาษีเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร
บริษัท อ. มีความรับผิดต้องชำระภาษีพร้อมทั้งเบี้ยปรับตามมาตรา 89(3) มาตรา 89(4)มาตรา
89(5) และเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากความผิดพลาดดังกล่าว
เกิดจากความเข้าใจผิดในข้อกฎหมาย และการวินิจฉัยตีความตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40)ฯ ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2535 จึงให้งดเบี้ยปรับตามมาตรา 89(3)
มาตรา 89(4) และมาตรา 89(5) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ตามข้อ 2 และข้อ 11 ของ
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.81/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การงดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีเงินได้
ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 22 มาตรา 26 มาตรา 67 ตรี มาตรา 89 และ
มาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2542
เลขตู้: 65/31296

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020