เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/2048
วันที่: 28 มีนาคม 2545
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการรับชำระหนี้บางส่วนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ
ข้อกฎหมาย: กฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ
ข้อหารือ: บริษัท ซ. ดำเนินธุรกิจรับจ้างผลิตถังโลหะขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมัน และ
ปิโตรเคมี ทั้งในและต่างประเทศ บริษัทฯ ได้รับการว่าจ้างให้ผลิตถังบรรจุน้ำมันและบำรุงรักษาวัสดุให้
กับบริษัท ร. ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบริษัท ท. เป็นบริษัทแม่ และเป็นผู้ค้ำประกันการจ่ายเงินดังกล่าวให้กับ
บริษัท ร. มูลค่างานรับจ้างก่อสร้างถังโลหะเป็นเงิน 709,665,000 บาท และมูลค่างานบำรุงรักษา
วัสดุเป็นเงิน 9,301,810 บาท ต่อมาบริษัท ร. ได้ชำระหนี้ค่ารับเหมาก่อสร้างถังโลหะและค่าจ้าง
บำรุงรักษาวัสดุให้กับบริษัทฯ บางส่วน คงมีหนี้ค้างชำระรวมเบี้ยปรับเป็นเงิน 202,532,137 บาท ซึ่ง
บริษัทฯ ได้ติดตามทวงถาม แต่บริษัท ร. ไม่สามารถชำระหนี้ค่ารับเหมาสร้างถังโลหะและค่าจ้าง
บำรุงรักษาวัสดุส่วนที่เหลือ และบริษัท ท. ก็ไม่สามารถชำระหนี้คงค้างดังกล่าวเช่นกัน ทั้งบริษัท ท.
(บริษัทแม่) และบริษัท ร. ได้ถูกกลุ่มเจ้าหนี้ยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง และได้จัดตั้งผู้ทำแผน
ฟื้นฟู และผู้บริหารแผน ฟื้นฟูเพื่อเสนอต่อศาลล้มละลายกลาง และได้รับอนุมัติแผนฟื้นฟูกิจการของทั้ง 2
บริษัท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เมื่อบริษัท ท. เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ภายใต้ศาลล้มละลายกลาง บริษัทฯ ได้ยื่นขอรับ
ชำระหนี้ที่บริษัท ร. ค้างชำระจากบริษัท ท. ต่อสำนักฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เป็นเงิน 202,532,137
บาท (ประกอบด้วยหนี้ค่างวดค้างชำระและเบี้ยปรับ) เนื่องจากบริษัท ท. เป็นบริษัทแม่ของบริษัท ร.
และเป็นผู้รับประกันทำให้บริษัทฯ ได้รับการชำระหนี้บางส่วน ซึ่งเป็นเบี้ยปรับจากการผิดนัดไม่ชำระหนี้
ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการจากบริษัท ท. คือ ระหว่างวันที่ 1-16 มกราคม 2544 เป็นเงินสด
234,855.74 บาท และเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2544 เป็นหุ้นของบริษัท ท. เป็นมูลค่า 54,814,396.18
บาท
1. บริษัทฯ ได้รับการชำระหนี้บางส่วนเป็นเบี้ยปรับจากการผิดนัดไม่ชำระหนี้ที่ได้รับอนุมัติแผน
ฟื้นฟูกิจการ จากศาลล้มละลายกลางเป็นเงินสดและเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2544 เป็นหุ้นของบริษัท ท. นั้น
บริษัทฯ จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการ
ยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 340) พ.ศ.2541 หรือไม่
2. หากบริษัทฯ ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวแล้วทางบริษัทฯ จะ
ต้องปฏิบัติอย่างไร และทางกรมสรรพากรจะมีแนวทางช่วยเหลือแก่ผู้เสียภาษีอากรอย่างไร
แนววินิจฉัย: กรณีบริษัทฯ ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จำนวน 202,532,137 บาท และบริษัทฯ ได้รับชำระหนี้
บางส่วนตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เป็นเงินสด 234,855.74 บาท และหุ้นของบริษัท ท.เป็นมูลค่า
54,814,396.18 บาท บริษัทฯ มีสิทธิจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชี ลูกหนี้ในส่วนของหนี้ที่ไม่ได้รับชำระตาม
แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายได้ตามข้อ 6 ตรี ของ
กฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534)ฯ
เลขตู้: 65/31293


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020