เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811(กม.03)/235
วันที่: 20 กุมภาพันธ์ 2543
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีเงินปันผล
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ทวิ (10)
ข้อหารือ: บริษัท ช. จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสหราชอาณาจักร
อังกฤษและไอร์แลนด์เหนือ ประกอบกิจการจำหน่ายน้ำมัน และมีสถานประกอบการถาวร (Permanent
Establishment) ในการดำเนินธุรกิจที่ประเทศไทย บริษัทฯ ได้ลงทุน โดยถือหุ้นบริษัทที่จดทะเบียนใน
ประเทศไทย ซึ่งดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวเนื่องและจำเป็นต่อการประกอบธุรกิจของบริษัทฯโดยตรง
การลงทุนถือหุ้นของบริษัทฯ ดังกล่าว ปรากฏหลักฐานเป็นทรัพย์สินแสดงอยู่ในงบดุลของสถานประกอบการ
ของบริษัทฯ ในประเทศไทยบริษัทฯ พิจารณาว่า กรณีเงินปันผลได้รับจากการลงทุนถือหุ้นดังกล่าวของ
บริษัทฯ ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร ในขณะที่ผู้
ดำเนินกิจการจำหน่ายน้ำมันรายอื่น หากเป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย จะได้รับสิทธิ
ยกเว้นภาษีเงินได้ดังกล่าว โดยไม่ต้องนำเงินปันผลที่ได้รับจากการถือหุ้นมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อ
เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของตน ถือเป็นการได้รับความอนุเคราะห์ในด้านภาษีที่น้อยกว่าบริษัทที่จดทะเบียน
จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยที่ดำเนินธุรกรรมประเภทเดียวกัน ไม่เป็นไปตามข้อ 24 (2) การไม่เลือกประติบัติ
(Non-discrimination) แห่งอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยกับ
ประเทศสหราชอาณาจักรอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือ ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาออกตามความใน
ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พุทธศักราช 2505 ความเห็นของบริษัทฯ
ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย: สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่เป็นการขัดต่อข้อ
24 ว่าด้วยการไม่เลือกปฏิบัติแห่งอนุสัญญาฯ ด้วยเหตุผล ดังนี้
1. เจตนารมณ์ของการให้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่ง
ประมวลรัษฎากร มุ่งขจัดภาระภาษีซ้ำซ้อนในเชิงเศรษฐศาสตร์ (Economic Double Taxation) ที่
อาจเกิดขึ้นในกรณีเงินปันผลที่จำหน่ายจากบริษัทแห่งหนึ่ง ไปยังบริษัทอีกแห่งหนึ่งที่เป็นผู้ถือหุ้น (Holding
Company) มิเช่นนั้น เงินปันผลดังกล่าว จะมีภาระภาษีเงินได้ที่ต้องเสียถึงสองครั้ง โดยเบื้องแรกเสีย
ภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรที่จำหน่ายเงินปันผลในระดับบริษัทที่จำหน่ายเงินปันผล และต่อมาต้องเสีย
ภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเงินปันผลในระดับบริษัทผู้ถือหุ้นอีกครั้ง
บริษัทผู้จำหน่ายเงินปันผล บริษัทผู้รับเงินปันผล
กำไรสุทธิ 100 เงินปันผลได้รับ 70
(1) ภาษี ร้อยละ 30 30 (2) ภาษี ร้อยละ 30 21
กำไรหลังจากหักภาษี 70 กำไรหลังจากหักภาษี 49
(จำหน่ายเป็นเงินปันผลทั้งหมด)
(หมายเหตุ :- หากปราศจากมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร เงินปันผล จำนวน 100 จะ
มีภาระภาษีโดยรวม 51 และบริษัทผู้รับเงินปันผล จะได้รับจำนวนเงินปันผลหลังจากหักภาษีทั้งสิ้นเพียง
49)
สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากรให้เฉพาะกรณีบริษัท
ผู้รับเงินปันผลที่จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทย เนื่องจากเป็นนิติบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ตาม
มาตรา 66 วรรค 1 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่รวมถึงกรณีบริษัทผู้รับเงินปันผลเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียน
จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ โดยถือว่ามีถิ่นที่อยู่นอกประเทศไทย
การปฏิบัติตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นหลักปฏิบัติสากลปรากฏอยู่
ทั่วไปในกฎหมายภาษีของต่างประเทศ และสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของอนุสัญญาฯ ที่กำหนดให้
ประเทศถิ่นที่อยู่ (The Residence State) เป็นประเทศปลายทาง มีสิทธิจัดเก็บภาษี รวมถึงการขจัด
ภาษีซ้ำซ้อนต่างๆ เช่น ภาษีซ้ำซ้อนในเชิงเศรษฐกิจ หรือภาษีซ้ำซ้อนระหว่างประเทศ (International
Double Taxation) สำหรับเงินได้หรือกำไรของวิสาหกิจที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศของตนตามข้อ 8 วรรค
1 กำไรธุรกิจ (Business Profits) แห่งอนุสัญญาฯ ประกอบกับข้อ 23 แห่งอนุสัญญาฯ ดังนี้ หาก
สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร ขยายความรวมถึงกรณีบริษัท
ผู้รับเงินปันผลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศไทยแล้วนิติบุคคลต่างประเทศยังคงมีภาระหน้าที่เสียภาษีจาก
เงินปันผลดังกล่าวในประเทศสหราชอาณาจักรอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือเช่นเดิม เนื่องจากไม่มีภาระ
ภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทยซึ่งมีฐานะเป็นประเทศแหล่งเงินได้ ประเทศสหราชอาณาจักรอังกฤษและ
ไอร์แลนด์เหนือในฐานะประเทศถิ่นที่อยู่ จึงมีสิทธิจัดเก็บภาษีสำหรับเงินได้หรือกำไรของนิติบุคคลที่มีถิ่น
ที่อยู่ในประเทศของตนได้อย่างเต็มที่ และมีผลให้ภาระภาษีซ้ำซ้อนในเชิงเศรษฐกิจยังคงมิได้ถูกขจัดอย่าง
แท้จริง
หากพิจารณาจากเจตนารมณ์ของมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ
หลักการภายใต้ข้อบัญญัติแห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนฯ แล้ว ประเทศไทย ซึ่งมีฐานะเป็นประเทศแหล่งเงินได้
ไม่มีความจำเป็นในการขยายสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากรให้กับบริษัท
ผู้รับเงินปันผลซึ่งเป็นนิติบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศไทยแต่อย่างใด แต่ควรเป็นหน้าที่ของประเทศถิ่นที่อยู่
ของบริษัทผู้รับเงินปันผลดังกล่าว ในการขจัดภาระภาษีซ้ำซ้อนในเชิงเศรษฐศาสตร์สำหรับเงินปันผลที่ได้
รับ โดยประเทศถิ่นที่อยู่อาจเป็นผู้อนุญาต ให้เครดิตภาษีประเภท Underlying Tax Credit สำหรับ
ภาษีเงินได้ที่เก็บจากกำไรที่จำหน่าย เงินปันผลในระดับบริษัทที่จำหน่ายเงินปันผลในประเทศไทยได้
2. การจำกัดสิทธิยกเว้นตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร มีประเด็นพิจารณา
ภายใต้ข้อ 24 ว่าด้วยการไม่เลือกประติบัติ แห่งอนุสัญญาฯ อยู่ 2 กรณี คือกรณีห้ามการเลือกประติบัติต่อ
คนชาติของรัฐผู้ทำสัญญา โดยมิให้เสียภาษีอากรใดๆ หรือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ใดๆ เกี่ยวกับการนั้น
อันเป็นการนอกเหนือไปจาก หรือมีภาระหนักกว่าการเก็บภาษีอากร และข้อกำหนดกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งคนชาติของอีกรัฐหนึ่งนั้น ถูกหรืออาจถูกบังคับให้เสีย หรือให้ปฏิบัติตามในสถานการณ์เดียวกัน ตามข้อ
24 วรรค 1 แห่งอนุสัญญาฯ และกรณีห้ามการเลือกปะติบัติต่อสถานประกอบการถาวร ซึ่งวิสาหกิจของรัฐ
ผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งมีอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง โดยภาษีอากรที่ถูกเรียกเก็บในกรณีนี้ จะต้องไม่เป็นการ
อนุเคราะห์ที่น้อยกว่าภาษีอากรที่เรียกเก็บจากซึ่งวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งนั้น ที่ประกอบ
กิจกรรมอย่างเดียวกัน
สิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีที่ให้เฉพาะผู้มีถิ่นที่อยู่ตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ไม่ขัดต่อกรณีห้ามการเลือกปะติบัติต่อคนชาติของรัฐผู้ทำสัญญา ตามข้อ 24 วรรค 1
แห่งอนุสัญญาฯ เนื่องจากเป็นการพิจารณาให้สิทธิประโยชน์จากสถานภาพการมีถิ่นที่อยู่ของบริษัทผู้รับเงิน
ปันผล นั่นคือสถานที่จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล (Place of Incorporation) ว่าอยู่ในประเทศไทย
หรือไม่ ไม่เกี่ยวกับเรื่องสัญชาติของนิติบุคคลดังกล่าว ดังนี้ หากบริษัท ก จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นใน
ประเทศไทย ย่อมมีสิทธิได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากรด้วย
แม้ว่าจะเป็นบริษัทที่หุ้นทั้งหมดถือโดยนิติบุคคลในต่างประเทศ (Wholly-owned Foreign
Subsidiary) และไม่มีสัญชาติไทย
นอกจากนี้ สิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีที่ให้เฉพาะผู้มีถิ่นที่อยู่ตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ไม่ขัดต่อกรณีห้ามการเลือกปะติบัติต่อสถานประกอบการถาวร ซึ่งวิสาหกิจของรัฐ
ผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งมีอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง ตามข้อ 24 วรรค 2 แห่งอนุสัญญาฯ เนื่องจากข้อความที่
บัญญัติว่า "จะต้องไม่เรียกเก็บในอีกรัฐหนึ่งนั้น โดยเป็นการอนุเคราะห์น้อยกว่าภาษีอากรที่เรียกเก็บจาก
วิสาหกิจของอีกรัฐหนึ่งนั้นที่ประกอบกิจการอย่างเดียวกัน" เป็นข้อความที่มีความหมายทั่วไป หมายถึง
การปฏิบัติอย่างเทียมเทียมในการจัดเก็บภาษีต่อสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย และนิติบุคคลไทย
ที่ประกอบกิจกรรมอย่างเดียวกัน ซึ่งครอบคลุมถึงฐานภาษี อัตราภาษี และวิธีการจัดเก็บภาษีโดยหลัก
ทั่วไปตามประมวลรัษฎากร ไม่รวมถึงการได้รับสิทธิพิเศษยกเว้นภาษีเงินได้กรณีเงินปันผลที่จำหน่ายจาก
บริษัทแห่งหนึ่งไปยังผู้ถือหุ้น โดยเทียบเคียงจากเอกสารตีความแบบร่างอนุสัญญาภาษีซ้อนขององค์กรเพื่อ
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The OECD Commentary) แห่งข้อว่าด้วยการไม่เลือกปฏิบัติ
ของแบบร่างอนุสัญญาภาษีซ้อนปี ค.ศ. 1992 ระบุมีความเห็นที่ไม่เป็นเอกฉันท์ระหว่างประเทศสมาชิกใน
กรณีดังกล่าว จึงเป็นเรื่องของรัฐคู่สัญญาในการเจรจาตกลงระหว่างกันว่าให้ขยายสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้
กรณีสถานประกอบการถาวรของบริษัทต่างประเทศที่ได้รับเงินปันผลจากนิติบุคคลอีกแห่งที่ตั้งขึ้นตาม
กฎหมายของรัฐนั้นหรือไม่ โดยกรณีอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยกับสห
ราชอาณาจักรอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือแล้ว ไม่มีการตกลงระหว่างกันในกรณีดังกล่าวไว้
เลขตู้: 65/31279

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020