เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/1586
วันที่: 21 กุมภาพันธ์ 2545
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีได้รับกรรมสิทธิ์ในอาคารเมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่า
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(5), มาตรา 9 ทวิ, พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11)
ข้อหารือ: นาง ส. ได้หารือ กรณีมารดาของ นาง ส. ได้ตกลงให้บริษัทแห่งหนึ่งเช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้าง
ตึกแถวมีกำหนดเวลา 30 ปี โดยตามสัญญากำหนดว่า "เมื่อครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแล้ว ให้บรรดา
สิ่งปลูกสร้างทั้งหมดบนที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินผู้ให้เช่า" นาง ส. จึงขอทราบว่า มารดา
จะมีภาระที่จะต้องชำระภาษีจากเงินได้ประเภทใด และจะคิดจากราคาใด หักค่าใช้จ่ายได้เท่าไร
รวมทั้งจะต้องยื่นแบบชำระภาษีเมื่อใดสำนักงานสรรพากรภาคเห็นว่า เมื่อมารดาของ นาง ส. ได้
รับกรรมสิทธิ์ในตึกแถวอันเนื่องมาจากการให้เช่าที่ดิน ถือได้ว่ามีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5)(ก)
แห่งประมวลรัษฎากร และเนื่องจากทรัพย์สินที่ให้เช่าเป็นที่ดินที่มิได้ใช้ในการเกษตรกรรม จึงให้หัก
ค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 15 เว้นแต่มารดาของ นาง ส. จะแสดงหลักฐานและนำมาพิสูจน์ว่ามี
ค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น ก็ยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ ตามมาตรา 43 แห่ง
ประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 5(1)(ค) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502
แนววินิจฉัย: เมื่อครบกำหนดอายุตามสัญญาเช่า กรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างตึกแถวได้ตกเป็นของเจ้าของที่ดิน
กรณีเข้าลักษณะเป็นเงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจากการให้เช่าทรัพย์สินอันเป็นเงินได้พึงประเมิน
ตามมาตรา 40(5) แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าของที่ดินจะต้องนำเงินได้ดังกล่าวมาเสีย
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในตึกแถวนั้น และให้คำนวณมูลค่าตึกแถวที่ได้รับกรรมสิทธิ์
ตามมาตรา 9 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรเจ้าของที่ดินมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายได้ตามมาตรา 5(1) แห่ง
พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502
เลขตู้: 65/31275

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020