เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ./1551
วันที่: 20 กุมภาพันธ์ 2545
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายค่าก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/2, มาตรา 82/3, มาตรา 82/5(5), มาตรา 89(3)(4), มาตรา 77/1(8)(9)
ข้อหารือ: สำนักงานสรรพากรภาคแจ้งว่า บริษัท ย. จำกัด ได้หารือกรณีบริษัทฯ ได้รับสัมปทานประกอบ
กิจการไฟฟ้า ระบบผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนอิสระ (Independent Power Producers-IPP) โดยเป็น
ผู้ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัทฯ ได้ทำ
สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. เลขที่ IPP/40-103 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2540 โดยตามสัญญาดังกล่าว
บริษัทฯ เป็นผู้รับผิดชอบในการก่อสร้างและดำเนินการต่าง ๆ ของโรงไฟฟ้า บริษัทฯ ให้พร้อมที่จะผลิต
และจ่ายกระแสไฟฟ้า และระบบส่งไฟฟ้าใหม่เพื่อเชื่อมเข้ากับระบบของ กฟผ. ที่มีอยู่เดิม ในการ
ดำเนินการ บริษัทฯ จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายโดยจ่ายเงินให้กับ กฟผ. โดยตรง ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าว
ประกอบด้วยค่าทดแทนการใช้ที่ดิน ค่าตั้งเสา ค่าออกแบบและค่าก่อสร้าง และบริษัทฯ ขอทราบว่า
(1) เมื่อบริษัทฯ ได้ชำระเงินตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้ กฟผ. ไปแล้ว โดย กฟผ. ได้ออก
ใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีให้บริษัทฯ บริษัทฯ มีสิทธินำไปเป็นภาษีซื้อของบริษัทฯ ทั้งจำนวนได้
หรือไม่
(2) หากภาษีมูลค่าเพิ่มที่ กฟผ. เรียกเก็บจากบริษัทฯ ไม่สามารถนำมาเป็นภาษีซื้อของบริษัทฯ
ได้แล้ว กรณีบริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) พร้อมได้รับเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม
ดังกล่าวคืนจากกรมสรรพากรแล้ว บริษัทฯ ต้องปฏิบัติอย่างไร และหากมีความผิดเกี่ยวกับการขอคืน
ภาษีซื้อดังกล่าว บริษัทฯ ของดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มสำหรับกรณีดังกล่าวรวมทั้งความผิดอาญาที่อาจเกิดขึ้น
ด้วย
(3) เงินเพิ่มค่าระบบส่งไฟฟ้า (Added Facility Charge - AFC) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ
ค่าไฟฟ้าที่บริษัทฯ จะเรียกเก็บจาก กฟผ. เป็นรายเดือน ภายหลังที่บริษัทฯ ได้ผลิตและจำหน่ายกระแส
ไฟฟ้าตามวันที่กำหนดจ่ายกระแสไฟฟ้าแล้วนั้นอยู่ในเกณฑ์ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจาก กฟผ. หรือไม่
(4) เนื่องจากการชำระเงินตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้ กฟผ. บริษัทฯ จะถือเป็นค่าใช้จ่าย
ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. ตามข้อ (1) และข้อ (2) เงินที่ กฟผ. ได้รับตามสัญญาดังกล่าวไม่อยู่ในบังคับต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร กฟผ. ไม่มีหน้าที่เรียกเก็บภาษี มูลค่าเพิ่มจาก
บริษัทฯ ตามมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร และไม่มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีและส่งมอบให้บริษัทฯ
ตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร
สำหรับกรณีบริษัทฯ ได้นำใบกำกับภาษีซื้อดังกล่าวไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากภาษีซื้อดังกล่าวเป็นภาษีซื้อต้องห้ามซึ่งบริษัทฯ ไม่มี
สิทธินำมาหักในการคำนวณภาษี ทั้งนี้ ตามมาตรา 82/5(5) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น บริษัทฯ จึง
ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมพร้อมทั้งเบี้ยปรับตามมาตรา 89(3)(4) แห่ง
ประมวลรัษฎากร และเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี บริษัทฯ นำ
ใบกำกับภาษีดังกล่าวไปใช้โดยความสำคัญผิด และไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี จึงงดเบี้ยปรับดังกล่าวให้แก่
บริษัทฯ ทั้งนี้ ตาม ข้อ 11 แห่งคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.81/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์
การงดหรือลดเบี้ยปรับหรือ เงินเพิ่ม ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 22
มาตรา 26 มาตรา 67 ตรี มาตรา 89 และมาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9
กรกฎาคม พ.ศ. 2542 สำหรับเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร กรมสรรพากรไม่มี
อำนาจงดหรือลดให้แต่ประการใด
2. ตามข้อ (3) เงินเพิ่มค่าระบบส่งไฟฟ้า (AFC) ที่บริษัทฯ เรียกเก็บจาก กฟผ. ถือเป็น
ฐานภาษีจากการขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่างตามมาตรา 77/1(8) และมาตรา 77/1(9) แห่ง
ประมวลรัษฎากร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
3. ตามข้อ (4) เงินที่บริษัทฯ ได้จ่ายไปให้กับ กฟผ. ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ลงวันที่ 30
มิถุนายน 2540 นั้น บริษัทฯ จะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ต้องเป็นรายจ่ายตามเงื่อนไข
ที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 65/31270

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020