เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/1550
วันที่: 20 กุมภาพันธ์ 2545
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีกิจการสตีวิโดร์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(10), มาตรา 77/2, มาตรา 85/1
ข้อหารือ: สำนักงานสรรพากรภาคได้หารือเกี่ยวกับปัญหาภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณี
กิจการสตีวิโดร์ (STEVEDORE) สรุปข้อเท็จจริงได้ดังนี้บริษัท ท. จำกัด ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทขนส่ง
ทางทะเลมีทะเบียนขนส่งซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย
ได้ทำการขนถ่ายสินค้าเป็นเรือ BULK (สินค้าเทกอง) ไม่ใช่เรือ CONTAINER (ยกเข้ายกออกสินค้า
จากตู้) ในบริเวณการท่าเรือแห่งประเทศไทย-ท่าเรือคลองเตย หรือท่าเรือเอกชนมาบตาพุดให้กับ
สายการเดินเรือ โดยเอเยนต์เรือของสายการเดินเรือนั้น ๆ เป็นผู้ว่าจ้าง ขณะนี้บริษัทฯ ยังไม่ได้
จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในทางปฏิบัติงาน STEVEDORE ที่บริษัทฯ รับทำ มีการแบ่งลักษณะการขนถ่าย
เป็น 3 ประเภท
ประเภทที่ 1 ได้ใช้แรงงานและเจ้าหน้าที่เป็นบุคคลธรรมดา เพื่อยกสินค้าขึ้นลงเรือ
ต่างประเทศ (ขนถ่ายสินค้า) บุคคลเหล่านี้ได้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามปกติแล้ว ไม่มีการ
จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้าบริษัทฯ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ ไม่มีภาษีซื้อที่จะนำมา หัก
ภาษีขาย (ภาษีขาย คือ รายรับที่บริษัทฯ เรียกเก็บจากสายการเดินเรือซึ่งรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม
สายการเดินเรือไม่ยอมจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงไม่ยอมจ่ายเงินตามบิลทั้งจำนวนทำให้ธุรกิจชะงัก โดยให้
เหตุผลว่า สัญญาขนส่งระหว่างประเทศได้ทำขึ้นโดยหลายฝ่ายและหลายประเทศ และสินค้าบาง LOT
ต้องทำสัญญาขนส่งเป็นการล่วงหน้าเป็นระยะยาว เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงโดยกระทันหันทำให้เกิด
ความเสียหาย)
ประเภทที่ 2 บริษัทฯ ว่าจ้างบริษัทนิติบุคคลซึ่งไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมาทำการขนถ่าย
สินค้าขึ้นลงเรือต่างประเทศ โดยอยู่ในความดูแลและรับผิดชอบของบริษัทฯ ทั้งนี้ บริษัทนิติบุคคลที่ได้รับ
การว่าจ้างเปรียบเสมือนหัวหน้ากรรมกรที่ชำนาญงานในแต่ละประเภทของสินค้า
ประเภทที่ 3 ลักษณะการทำงานเหมือนประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ดังกล่าว ข้างต้น แต่มี
ความแตกต่างกันตรงที่ทำการขนถ่ายให้เรือต่างประเทศขาออก ตัวอย่างเช่น สินค้าเหล็กม้วน
STEVEDORE จำเป็นต้องใช้เหล็กพืด, ไม้ลิ่มและไม้รองพื้น กันเพื่อไม่ให้สินค้าเสียหายเมื่อเจอมรสุม
ทางทะเลโดยการยึดไม่ให้เคลื่อน (SECURING AND LASHING) ด้วยแรงคนธรรมดา (ประเภทที่ 1)
หรือโดยบริษัทนิติบุคคล (ประเภทที่ 2) ในการขนถ่ายนี้มีการใช้ FORKLIFT ช่วยด้วย แต่ FORKLIFT
เป็นรถที่บริษัทเอเย่นต์เรือเป็นผู้ว่าจ้าง มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย และมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
บริษัทฯ ไม่ได้เป็นเจ้าของรถ FORKLIFT และไม่ได้เป็นผู้ว่าจ้างอย่างใดบริษัทฯ จึงขอหารือว่า
1. การประกอบธุรกิจของบริษัทฯ ประเภทที่ 1 ประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 จัดว่าเป็น
ธุรกิจประเภทขนส่งหรือประเภทบริการ
2. บริษัทฯ จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
3. บริษัทฯ จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย อัตราร้อยละเท่าใด
4. ถ้าผู้ว่าจ้างบริษัทฯ เพื่อทำการขนถ่ายสินค้าเป็นเจ้าของสินค้า (SHIPPE R) จะมีผลทาง
ด้านกฎหมายแตกต่างจากคำตอบของคำถามในข้อ 1, 2 และ 3 หรือไม่ อย่างใด สำนักงาน
สรรพากรภาคได้พิจารณาแล้วเห็นว่า งาน STEVEDORE ที่บริษัทฯ รับทำ โดยแบ่งลักษณะการขนถ่ายทั้ง
3 ประเภทนั้น เข้าลักษณะเป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการท่าเรือ ถือเป็นการให้บริการตาม
มาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่ง
ประมวลรัษฎากร และตามข้อ 1(2)(ข) และข้อ 2 วรรคแรก ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.
106/2544 ฯ ลงวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2544 บริษัทฯ จึงต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยยื่น
คำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.01 ณ สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ที่บริษัทฯ มีภูมิลำเนาตั้ง
อยู่ และเงินได้จากค่าบริการขนถ่ายสินค้าดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8)
แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทฯ ผู้ว่าจ้างจ่าย ให้กับบริษัทฯ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ
3 ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่ง
แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.101/2544 ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2544
สำหรับการจ่ายเงินได้ ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2544 เป็นต้นไป
แนววินิจฉัย: กรณีดังกล่าวบริษัทฯ ประกอบกิจการขนถ่ายสินค้าในบริเวณการท่าเรือแห่งประเทศไทย
(ท่าเรือคลองเตย) หรือท่าเรือเอกชนมาบตาพุดให้กับสายการเดินเรือโดยมีเอเย่นต์เรือของ
สายการเดินเรือเป็นผู้ว่าจ้าง จึงให้แจ้งบริษัทฯ เพื่อให้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป ดังนี้
(1) บริษัทฯ ใช้แรงงานกรรมกรขนถ่ายสินค้าหรือว่าจ้างบริษัทอื่นทำการขนถ่าย สินค้าขึ้นลง
เรือต่างประเทศที่เทียบท่าเรือให้กับสายการเดินเรือต่างประเทศ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตาม
มาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2
แห่งประมวลรัษฎากร
(2) บริษัทฯ ใช้แรงงานกรรมกรขนถ่ายสินค้าหรือว่าจ้างบริษัทอื่นทำการขนถ่าย สินค้า
ประเภทเหล็กม้วนขึ้นลงเรือต่างประเทศที่เทียบท่าเรือให้กับสายการเดินเรือต่างประเทศ ขาออก เข้า
ลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ อยู่ในบังคับต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
(3) กรณีบริษัทฯ มีรายรับจากการประกอบกิจการตาม (1) และ (2) เกิน 1,200,000
บาทต่อปี บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/1 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบ
กับพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 354) พ.ศ. 2542 และบริษัทฯ ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ว่าจ้าง
เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร
(4) เงินค่าบริการขนถ่ายสินค้าที่บริษัทฯ ได้รับ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา
40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อผู้ว่าจ้างจ่ายเงินค่าบริการดังกล่าวให้บริษัทฯ มี หน้าที่ต้องหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3 ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ
ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
(5) กรณีผู้ว่าจ้างบริษัทฯ ตาม (1) และ (2) เป็นเจ้าของสินค้า (SHIPPER) บริษัทฯ ก็
ต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับที่กล่าวไว้ใน (1)-(4)
เลขตู้: 65/31269

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020