เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/1529
วันที่: 20 กุมภาพันธ์ 2545
เรื่อง: ภาระภาษีจากการดำเนินงานของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 83/6
ข้อหารือ: บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) หารือว่า
1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
1.1 การขายสินค้าหรือบริการให้แก่ บสท. ผู้ประกอบการไม่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม
จาก บสท. และไม่มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีให้แก่ บสท. เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีที่ผู้บริโภค
คนสุดท้ายเป็นผู้รับภาระ ในการดำเนินธุรกรรมดังกล่าว บสท. เป็นผู้บริโภคคนสุดท้าย บสท. และ
ผู้ประกอบการดังกล่าว จึงได้รับการยกเว้นไม่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มต่อกัน ใช่หรือไม่
1.2 การที่ บสท. ได้รับรายได้หรือค่าธรรมเนียมจากผู้ประกอบการ บสท. ไม่มี หน้าที่
เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะ บสท. มิได้อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ใช่หรือไม่
2. ภาษีนิติบุคคล จากกรณีในข้อ 1. เมื่อผู้ประกอบการมีกำไรจากการค้าที่ เกี่ยวเนื่องกับ บ
สท. จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องนำผลกำไรไปรวมเพื่อคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบบัญชีที่เกิดจาก
รายการค้านั้น ใช่หรือไม่
3. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จากกรณีในข้อ 2. เมื่อผู้ประกอบการไม่ต้องนำกำไรไปรวมเพื่อ
คำนวณภาษีนิติบุคคล บสท. จึงไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับรายการค้าดังกล่าว ใช่หรือไม่
4. สำหรับธุรกรรมที่ บสท. ก่อให้เกิดรายได้แก่นิติบุคคลต่างประเทศ เช่น ค่าบริการ
ที่ปรึกษาทางการเงิน การจัดการในการบริหารหนี้ บสท. ได้รับยกเว้นไม่ต้องเรียกเก็บภาษี มูลค่าเพิ่ม
และหักภาษี ณ ที่จ่าย ใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. ภาระภาษีของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) แยกพิจารณาได้ดังนี้
1.1 บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นตามพระราชกำหนด
บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. 2544 ตามมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดฯ บสท.เป็นนิติบุคคลและมี
ฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยการงบประมาณ และ
กฎหมายอื่น บสท. จึงไม่อยู่ในความหมายของ "บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล" ตามมาตรา 39 แห่ง
ประมวลรัษฎากร ดังนั้น บสท. จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
1.2 บสท. ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์จากการ
ประกอบธุรกรรมตามกรอบวัตถุประสงค์ของ บสท. ตามมาตรา 29 และมาตรา 43 แห่งพระราชกำหนด
บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. 2544
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
2.1 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มขายสินค้าหรือให้บริการแก่บรรษัทบริหาร
สินทรัพย์ไทย (บสท.) ผู้ประกอบการดังกล่าวมีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจาก บสท. เมื่อความรับผิด
ในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น
2.2 กรณี บสท. ชำระราคาค่าบริการ เช่น ค่าบริการที่ปรึกษาทางการเงินหรือ
การจัดการในการบริหารหนี้ออกไปให้ผู้ประกอบการต่างประเทศ กรณีเข้าลักษณะเป็นการให้บริการโดย
ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรและได้นำผลของการบริการมาใช้ในราชอาณาจักร เมื่อ บสท.
ชำระค่าบริการดังกล่าวออกไป บสท. มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6 แห่ง
ประมวลรัษฎากร
3. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
3.1 ผู้ประกอบการตามข้อ 2. ที่ขายสินค้าหรือให้บริการแก่ บสท. มีหน้าที่ ต้องนำ
เงินได้จากการขายสินค้าหรือให้บริการดังกล่าวไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยไม่ได้รับ
ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 29 วรรค 2 แห่งพระราชกำหนดฯ แต่อย่างใด
3.2 เมื่อ บสท. จ่ายเงินค่าสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการ บสท. มีหน้าที่ต้อง
หักภาษี ณ ที่จ่ายตามที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร
3.3 กรณีที่ บสท. จ่ายค่าบริการออกไปให้กับผู้ประกอบการในต่างประเทศต้องพิจารณา
ข้อเท็จจริงเป็นกรณี ๆ ไป จึงจะสามารถวินิจฉัยได้ เนื่องจากในบางกรณีผู้ประกอบการในต่างประเทศ
อาจได้รับสิทธิประโยชน์ตามอนุสัญญาภาษีซ้อนได้
เลขตู้: 65/31267

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020