เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/1330
วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2545
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการขอคืนภาษีสำหรับการโอนขายที่ดินให้บุคคลที่สาม เพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้สถาบันการเงิน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 50(5)(ข), มาตรา 63, พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 360) พ.ศ. 2542
ข้อหารือ: เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2543 นาย ก. ได้ซื้อที่ดิน นาง ศ. ซึ่งเป็นน้องสาวในราคา
4,100,000 บาท เพื่อให้ นาง ศ. นำเงินไปชำระหนี้จำนองที่เป็นหนี้ธนาคาร ซึ่งต่อมาได้โอนสิทธิไป
ยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด เป็นจำนวนทั้งสิ้น 700,000 บาท อันเนื่องมาจาก
การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดภายใต้สิทธิประโยชน์
ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 360) พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่
373) พ.ศ. 2543 โดยในขณะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมได้มีการยื่นหนังสือรับรองการปรับปรุง
โครงสร้างหนี้ และยอมให้เจ้าพนักงานที่ดินผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ณ ที่จ่าย จำนวน 119,800 บาท ไปก่อน เนื่องจากประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 28 ธันวาคม
พ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวยังไม่มีการประกาศ นาย ก.จึงหารือว่า
1. ราคาประเมินที่เจ้าพนักงานที่ดินใช้คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย จำนวน 3,296,000 บาท
แต่เมื่อใช้สิทธิยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ต้องเอาส่วนที่ได้ชำระหนี้แก่สถาบันการเงินจำนวน
700,000 บาท ลบออกก่อน คือ 3,296,000 บาท ลบด้วย 700,000 บาท เหลือเท่ากับ 2,596,000
บาท แล้วคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(5)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร (ซื้อมาเกิน 10 ปีแล้ว)
ได้ภาษีเท่าใดนำไปหักออกจากจำนวนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้แล้ว ส่วนที่เกิน ผู้ขายมีสิทธิขอคืนภายใน
3 ปีนับแต่วันที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย จะเป็นการถูกต้องหรือไม่
2. ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2543 ซึ่งให้มีผล ย้อนหลังถึง
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2543 เป็นต้นไป มีผลให้การดำเนินการตามกระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ได้
กระทำก่อนวันที่ 28 ธันวาคม 2543 ซึ่งเป็นวันออกประกาศได้รับสิทธิประโยชน์ด้วย จะเป็นการถูกต้อง
หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. การขายอสังหาริมทรัพย์ของ นาง ศ. ดังกล่าว จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตาม
พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 360) พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 373)
พ.ศ. 2543 ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ข้อ 1(2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 28 ธันวาคม
พ.ศ. 2543 โดยต้องมีการจัดทำหนังสือรับรองการโอนอสังหาริมทรัพย์ของ ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน
ตามที่แนบท้ายประกาศอธิบดีกรมสรรพากรดังกล่าว และแจ้งหนังสือ รับรองดังกล่าวต่ออธิบดี
กรมสรรพากรผ่านสรรพากรพื้นที่ สรรพากรจังหวัด หรือสรรพากรจังหวัด (สาขา) ในท้องที่ที่ลูกหนี้ของ
สถาบันการเงินมีภูมิลำเนาหรือสถานประกอบการตั้งอยู่ หรือในท้องที่ที่อสังหาริมทรัพย์ที่โอนตั้งอยู่
2. จำนวนเงินที่ นาง ศ. ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่ได้รับจาก
การขายอสังหาริมทรัพย์ เมื่อได้ปฏิบัติตาม 1. แล้ว ได้แก่ จำนวนเงิน 700,000 บาท โดยใน
การคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ให้นำจำนวนเงินดังกล่าวไปหักออกจากราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อ
เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม และเหลือจำนวนเท่าใด ให้คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่าย ตามมาตรา 50(5)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้เกินไป ย่อม
มีสิทธิขอคืนได้ภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีที่เสียภาษีไว้เกินไป ตามมาตรา 63 แห่ง
ประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 65/31261


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020