เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/1328
วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2455
เรื่อง: ภาษีอากรค้าง กรณีร้องคัดค้านการอายัดทรัพย์สิน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 458 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ข้อหารือ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ซึ่งมีข้อเท็จจริงสรุปความว่า ห้างฯ ค้างชำระภาษีอากรรวมเป็นเงิน
13,812,584.26 บาท ณ สำนักงานสรรพากรอำเภอจากการเร่งรัดพบว่า ห้างฯ มีชื่อเป็น
ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรถยนต์หมายเลขทะเบียน 00-0000 และ 00-0001 แต่ยังไม่พบตัวทรัพย์ จึงได้ทำการ
อายัดหลักฐานทางทะเบียน ตามคำสั่งอายัดลงวันที่ 1 ตุลาคม 2542 ต่อมาเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน
2543 นาย ถ. ได้มอบอำนาจให้นายสมควร แซ่กวย มายื่นคำร้องคัดค้านการอายัดรถยนต์หมายเลข
ทะเบียน 00-0000 โดยกล่าวอ้างว่า รถยนต์คันดังกล่าวไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของห้างฯ เนื่องจากห้างฯ ได้
ขายให้แก่นาย ถ. โดยทำสัญญาซื้อขายและชำระราคาโดยมีหลักฐานถูกต้องพร้อมทั้งได้ครอบครองรถยนต์
ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2542 ก่อนที่จะมีคำสั่งอายัดและเหตุที่ไม่ได้โอนทางทะเบียน เนื่องจากยังไม่มี
ใบอนุญาตประกอบการขนส่ง
จังหวัดฯ ได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่า เนื่องจากการเร่งรัดยังไม่พบตัวรถยนต์กระบะบรรทุก
หมายเลขทะเบียน 00-0000 และ 00-0001 จึงยังมิได้มีการยึดทรัพย์สินดังกล่าว ประกอบกับการซื้อ
ขายสังหาริมทรัพย์ กฎหมายมิได้บังคับว่าจะต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การซื้อขาย
สังหาริมทรัพย์จึงเพียงแต่ส่งมอบและชำระราคาเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกันก็สมบูรณ์แล้ว หลักฐานที่ปรากฏ
ทางทะเบียนมิใช่หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ในรถยนต์แต่อย่างใด เมื่อปรากฏตามข้อเท็จจริงว่า รถกระบะ
บรรทุกหมายเลขทะเบียน 00-0000 ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของห้างฯ ผู้ค้างภาษีอากร แต่เป็นกรรมสิทธิ์ของ
นาย ถ. เนื่องจากได้ทำสัญญาซื้อขายและชำระราคาโดยมีหลักฐานถูกต้อง พร้อมทั้งได้ครอบครองรถ
ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2542 ตามนัยมาตรา 458 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก่อนที่จังหวัดฯ
จะมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินลงวันที่ 1 ตุลาคม 2542 ทางราชการจึงไม่มีอำนาจอายัดรถกระบะบรรทุก
หมายเลขทะเบียน 00-0000
สำนักงานสรรพากรภาคเห็นว่า เนื่องจากรถยนต์เป็นสังหาริมทรัพย์ที่มีหลักฐานทางทะเบียน
ของทางราชการ แต่เมื่อมีการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่กัน โดยการส่งมอบก็ถือว่าสมบูรณ์
แล้ว เพราะว่าหลักฐานที่ปรากฏทางทะเบียนมิใช่หลักฐานที่แสดงกรรมสิทธิ์ในรถยนต์แต่อย่างใด ดังนั้น
เมื่อตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า ห้างฯ ผู้ค้างภาษีอากรได้ขายรถกระบะบรรทุกหมายเลขทะเบียน
00-0000 ให้นาย ถ. โดยได้ทำสัญญาซื้อขายและชำระราคาโดยมี หลักฐานถูกต้องพร้อมทั้งได้
ครอบครองรถยนต์ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2542 กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้นย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่
ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน ตามนัยมาตรา 458 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และ
สัญญาซื้อขายรถยนต์คันดังกล่าวได้กระทำก่อนที่จังหวัดฯ จะมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินลงวันที่ 1 ตุลาคม 2542
ทางราชการจึงไม่มีอำนาจอายัดรถกระบะบรรทุกหมายเลขทะเบียน 00-0000 ดังกล่าว
แนววินิจฉัย: การมีชื่อเป็นเจ้าของในทะเบียนรถยนต์ เป็นแต่ข้อสันนิษฐานในเบื้องต้นว่าเป็น เจ้าของ
เท่านั้น หาใช่แสดงว่าผู้มีชื่อเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์เสมอไป เพราะทะเบียนรถยนต์มิใช่หลักฐานแห่ง
กรรมสิทธิ์ ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่า ห้างฯ ได้ขายรถยนต์ดังกล่าวให้แก่นาย ถ. ก่อนจังหวัดฯ มีคำสั่ง
อายัด จังหวัดฯ ก็ไม่มีอำนาจยึดหรืออายัดรถยนต์คันดังกล่าวแต่อย่างใด
เลขตู้: 65/31259


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020