เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/1292
วันที่: 12 กุมภาพันธ์ 2545
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจัดสรรเงินคืนแก่เจ้าหนี้ในธุรกรรมประเภทต่าง ๆ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40, มาตรา 40(4)(ก), มาตรา 50(2)(ข), คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ
ข้อหารือ: องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการคำนวณ
ภาษีกรณีจัดสรรเงินคืนแก่เจ้าหนี้ของสถาบันการเงินที่ถูกปิด กิจการ (FCT) ในธุรกรรมประเภทต่างฯ
ดังนี้
1. กรณี FCT เป็นหนี้ค่าจ้างก่อสร้างเป็นจำนวนเงิน 1,500,000 บาท แต่ ปรส.จ่ายเงิน
ให้แก่เจ้าหนี้ได้เพียงร้อยละ 20 ของยอดเจ้าหนี้ โดยมีรายละเอียดการชำระเงินดังนี้
เงินสด 240,000 บาท
ตั๋วสัญญาใช้เงิน 40,000 บาท
Profit Sharing 15,000 บาท
Cashflow Sharing 5,000 บาท
ปรส. ขอทราบว่า การคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจะคำนวณจากยอดไหน ทั้งนี้ บริษัทใช้เกณฑ์เงินสด
2. กรณี FCT เป็นหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นจำนวน 10,000,000 บาท ดอกเบี้ย 500,000
บาท รวมเป็นเงิน 10,5000,000 บาท แต่ ปรส. จ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ได้เพียงร้อยละ 20 ของยอด
เจ้าหนี้ โดยจะชำระเงินเพียง 2,100,000 บาท
ปรส. ขอทราบว่า กรณีดังกล่าวจะถือเป็นการชำระหนี้แต่เพียงต้นเงินอย่างเดียวได้หรือไม่
ถ้าไม่ได้จะมีกฎเกณฑ์อย่างไร และจะคำนวณหักภาษีอย่างไรและอัตราเท่าไร สำหรับการจ่ายเงินให้แก่
บุคคลธรรมดา นิติบุคคล กองทุน ธนาคารทั้งในประเทศและต่างประเทศ บุคคลหรือ นิติบุคคล
ต่างประเทศที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย และบุคคลหรือนิติบุคคลต่างประเทศที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศไทย
3. เจ้าหนี้ค่าจ้างแรงงาน ซึ่ง FCT เป็นหนี้อยู่ 240,000 บาท แต่ ปรส. จ่ายเงินให้แก่
เจ้าหนี้ดังนี้
3.1 จ่ายเงินทั้งจำนวนให้แก่เจ้าหนี้ ตามบุริมสิทธิกฎหมายแรงงาน 100,000 บาท
3.2 ต้นเงินส่วนที่เหลือ ปรส. จ่ายเหมาในอัตราร้อยละ 20 ของยอดหนี้ คงค้าง คือ
จำนวน 28,000 บาท
ปรส. ขอทราบว่า การหักภาษี ณ ที่จ่ายมีวิธีการคำนวณอย่างไร
4. กรณี FCT เป็นหนี้ค่าเช่าสัญญาณดาวเทียมจำนวน 500,000 บาท ค่าดอกเบี้ย จำนวน
40,000 บาท ค่าความเสียหายจำนวน 200,000 บาท แต่ ปรส. จ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ได้เพียงร้อยละ
20 ของยอดหนี้ โดยมีรายละเอียดการชำระเงินดังนี้
เงินสด 118,400 บาท
ตั๋วสัญญาใช้เงิน 23,680 บาท
Profit Sharing 4,736 บาท
Cashflow Sharing 1,184 บาท
ปรส. ขอทราบว่า การคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจะคำนวณจากยอดไหน อย่างไร
5. กรณี FCT เป็นหนี้เงินกู้ต่างประเทศเป็นจำนวนเงิน 570,000,000 บาท ค่าดอกเบี้ย
จำนวน 94,000,000 บาท และค่าใช้จ่ายอื่นในการติดต่อเรียกเก็บหนี้เป็นจำนวน 8,900,000 บาท
แต่ ปรส. จ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ได้เพียงร้อยละ 20 ของยอดหนี้ โดยมีรายละเอียดการชำระเงินดังนี้
เงินสด 107,664,000 บาท
ตั๋วสัญญาใช้เงิน 21,532,800 บาท
Profit Sharing 4,306,560 บาท
Cashflow Sharing 1,076,640 บาท
ปรส. ขอทราบว่า กรณีดังกล่าวจะถือเป็นการชำระหนี้แต่เพียงต้นเงินอย่างเดียวได้หรือไม่
ถ้าไม่ได้จะคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายเฉพาะยอดดอกเบี้ยเท่าไร และที่เหลือไม่มีการหักภาษีดอกเบี้ย
ตาม prorata หรือไม่ และกรณี FCT ต้องรับภาระภาษีแทนเจ้าหนี้จะคำนวณอย่างไร รวมทั้งกรณี
BIBF และกรณีไม่มี BIBF
6. กรณีตั๋วสัญญาใช้เงินของ บบส. ที่ออกให้กับ FCT เนื่องจาก FCT ได้ขายลูกหนี้สินเชื่อให้
กับ บบส. ในราคา 300 ล้านบาท โดยตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวออกเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2542 ครบ
กำหนดไถ่ถอนวันที่ 31 มี.ค.2546 กำหนดรับดอกเบี้ยทุกวันที่ 31 มี.ค. และวันที่ 30 ก.ย. อัตรา
ดอกเบี้ยร้อยละ 11 ต่อปี แต่เนื่องจากตั๋วสัญญาใช้เงินจะมีการเปลี่ยนมือเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2543 ปรส
. จึงขอทราบว่า ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 2543 ถึงวันที่ 29 มิ.ย.2543 ซึ่งเป็นช่วงที่
FCT เป็นผู้ถือตั๋วเงินเป็นจำนวน 91 วันและเป็นผู้รับดอกเบี้ยเพื่อนำเข้ากองทรัพย์สิน บบส. มีหน้าที่ต้อง
หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่
สำหรับดอกเบี้ยของ บบส.ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. 2543 เป็นต้นไปจะตกเป็นของ
เจ้าหนี้ โดย ปรส. จะแจ้ง บบส. เพื่อให้ บบส. ทำการออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่เพื่อชำระหนี้แก่
เจ้าหนี้โดยมีชื่อเจ้าหนี้เป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงิน และเป็นการชำระราคาทรัพย์สินโดยตั๋วสัญญา ใช้เงิน
ของ บบส. บบส. มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่ นั้น
แนววินิจฉัย: 1. ตามข้อ 1. กรณี ปรส. ได้จ่ายเงินที่สถาบันการเงินฯ ถูกปิดกิจการเป็นหนี้ค่าจ้างทำของ
ให้กับเจ้าหนี้ เนื่องจากเงินค่าจ้างทำของเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่ง
ประมวลรัษฎากร สถาบันการเงินฯ ที่ถูกปิดกิจการมีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้
ในอัตราร้อยละ 3.0 ทั้งนี้ ตามข้อ 8 แห่งคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้
ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่
26 กันยายน พ.ศ. 2528 และกรณีได้จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าวเป็นเงินสด Profit Sharing
และ Cashflow Sharing ผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในวันที่ได้จ่ายเงินได้ ดังกล่าวนั้น
ส่วนกรณีที่ผู้จ่ายได้จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าวเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน ให้ถือวันถึงกำหนดใช้เงินใน
ตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นวันจ่ายเงินได้พึงประเมิน
เนื่องจากภาษีหัก ณ ที่จ่าย ให้ถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของผู้มีเงินได้
(เจ้าหนี้) ซึ่งได้ใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณภาษีเงินได้ ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.1/2528
เรื่อง การใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ลงวันที่ 28
สิงหาคม พ.ศ. 2528 ดังนั้น แม้สถาบันการเงินฯ ที่ถูกปิดกิจการ (ผู้จ่ายเงินได้)จะใช้เกณฑ์เงินสดใน
การคำนวณภาษีเงินได้ กรณีดังกล่าวไม่มีผลต่อการหักภาษีแต่อย่างใด
2. ตามข้อ 2. กรณี ปรส. ได้จ่ายเงินที่สถาบันการเงินฯ ที่ถูกปิดกิจการเป็นหนี้ตาม
ตั๋วสัญญาใช้เงินและดอกเบี้ยให้กับเจ้าหนี้ โดยได้จ่ายเงินชำระหนี้เป็นจำนวนร้อยละ 20 ของหนี้
ดังกล่าว ดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่ง
ประมวลรัษฎากร สถาบันการเงินฯ ที่ถูกปิดกิจการซึ่งเป็นธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์
และบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ เป็น
ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าว สถาบันการเงินฯ ที่ถูกปิดกิจการมีหน้าที่หักภาษี เงินได้ ณ ที่จ่าย
ตามส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ย
2.1 หากผู้รับเป็นบุคคลธรรมดา ให้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักในอัตรา
ร้อยละ 15.0 ของเงินได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 50(2)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร
2.2 หากผู้รับเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในประเทศไทย ให้หัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0 ทั้งนี้ตามข้อ 4 ของ คำสั่งกรมสรรพากร ที่
ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย คำสั่งกรมสรรพากร ที่
ท.ป.101/2544 ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2544
2.3 หากผู้รับเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศมิได้
ประกอบกิจการในประเทศไทย ให้หักภาษีจากเงินได้ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 15 ทั้งนี้
ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
2.4 หากผู้รับเป็นกองทุนที่เป็นนิติบุคคล แต่ไม่มีฐานะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลผู้จ่ายเงินได้ไม่มีหน้าที่
ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแต่ประการใด
3. ตามข้อ 3. กรณี ปรส. ได้จ่ายค่าแรงงานที่เป็นเงินเดือนและเงินชดเชยให้กับพนักงานที่
ถูกเลิกจ้างของสถาบันการเงินฯ ที่ถูกปิดกิจการ เนื่องจากเงินได้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็น
เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร สถาบันการเงินฯ ที่ถูกปิดกิจการมีหน้าที่ต้อง
คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร หากสถาบันการเงินฯ ที่
ถูกปิดกิจการได้ตกลงจ่ายเงินเดือนในอัตราร้อยละ 20 ของเงินเดือนที่ได้ตกลงไว้แต่แรกให้กับพนักงาน
ในการคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายให้คิดจากฐานเงินเดือนที่ได้จ่ายจริง
4. ตามข้อ 4. กรณี ปรส. ได้จ่ายค่าเช่าสัญญาณดาวเทียม ค่าดอกเบี้ยจากการชำระเงิน
ล่าช้า และค่าความเสียหาย ให้กับเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินฯ ที่ถูกปิดกิจการ เนื่องจากเงินได้จากเงิน
ค่าเช่าสัญญาณดาวเทียม เข้าลักษณะเป็นการให้บริการรับจ้างทำของ สถาบันการเงินซึ่งเป็น
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ผู้จ่ายค่าบริการดังกล่าวมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 3.0 ของเงินได้ ทั้งนี้ ตามข้อ 8 (2) แห่งคำสั่ง
กรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่ง
ประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 และกรณีที่ผู้จ่ายได้
จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าวเป็นเงินสด Profit Sharing และ Cashflow Sharing ผู้จ่ายมี
หน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในวันที่ได้จ่ายเงินได้ดังกล่าวนั้น ส่วนกรณีที่ผู้จ่ายได้จ่าย
เงินได้พึงประเมิน ดังกล่าวเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน ให้ถือวันถึงกำหนดใช้เงินในตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นวันจ่าย
เงินได้ พึงประเมิน สำหรับการจ่ายเงินชดเชยค่าความเสียหาย ไม่เข้าลักษณะเป็นการให้บริการ
รับจ้างทำของ จึงไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.
4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 แต่ประการใด
ส่วนการจ่ายเงินเป็นค่าดอกเบี้ยจากการชำระเงินล่าช้า เงินค่าดอกเบี้ยดังกล่าวเข้าลักษณะ
เป็นเงินได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกับดอกเบี้ย ผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนอื่น ตามมาตรา 40(4)(ก)
แห่งประมวลรัษฎากร" ดังนั้น เมื่อ ปรส. จ่ายเงินค่าดอกเบี้ยดังกล่าวแทนสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ
ปรส. ซึ่งเป็นผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ดังนี้
(ก) หากเป็นการจ่ายเงินก่อนวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2544 กรณีไม่อยู่ในบังคับต้องหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่ประการใด
(ข) หากเป็นการจ่ายเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2544 ปรส.
ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าวแทนสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0 ทั้งนี้ ตามข้อ 4(1)(ก) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.
4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่
ท.ป.101/2544 ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2544
5. ตามข้อ 5 กรณี ปรส. ได้จ่ายคืนหนี้เงินกู้ต่างประเทศ ค่าดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายอื่นใน
การติดต่อเรียกเก็บหนี้ ให้กับเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินฯ ที่ถูกปิดกิจการ โดย ปรส. จ่ายเงินให้แก่
เจ้าหนี้ได้เพียงร้อยละ 20 ของยอดเจ้าหนี้ เนื่องจากเงินค่าดอกเบี้ยและเงิน ค่าใช้จ่ายในการติดต่อ
เรียกเก็บหนี้ เข้าลักษณะเป็นดอกเบี้ยและเงินได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับดอกเบี้ย ผลประโยชน์หรือ
ค่าตอบแทนอื่น ๆ อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายเงินค่า
ดอกเบี้ยดังกล่าวมีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 15 ตามมาตรา
70 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ สถาบันการเงินฯ ที่ถูกปิดกิจการต้องนำจำนวนเงินที่ได้จ่ายไปมาเฉลี่ย
ตามสัดส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ยสำหรับเงินที่ได้จ่ายไปนั้น
6. ตามข้อ 6. เนื่องจากสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการได้ขายลูกหนี้สินเชื่อให้กับ บบส. และ
บบส. ได้ชำระราคาดังกล่าว โดยส่วนหนึ่งชำระเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินให้กับสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ
เมื่อถึงระยะเวลาที่สถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการจะต้องชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของสถาบันการเงินที่ถูกปิด
กิจการ ก็จะนำตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวมาแยกออกเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน หลาย ๆ ฉบับ เพื่อส่งมอบให้กับ
เจ้าหนี้ซึ่งได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ และได้รับอนุมัติให้รับชำระหนี้จากศาลแล้ว เจ้าหนี้ดังกล่าวจึงมีทั้ง
บุคคลธรรมดา และนิติบุคคลทั้งในและต่างประเทศ ดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินถือเป็นเงินได้พึงประเมิน
ตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น กรณี บบส. ผู้จ่ายดอกเบี้ยดังกล่าวให้กับ
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ไม่ว่าจะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือ
ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ บบส. มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 ตาม
มาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
กรณี บบส. จ่ายดอกเบี้ยดังกล่าวให้แก่ผู้รับที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตาม
กฎหมายของต่างประเทศมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ให้หักภาษีจากเงินได้นั้นในอัตราร้อยละ 15
ทั้งนี้ ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากรกรณี บบส. จ่ายดอกเบี้ยดังกล่าวให้แก่ผู้รับที่เป็น
บุคคลธรรมดา บบส. มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ตามมาตรา 50(2)(ข)
แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 65/31256


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020