เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ./939
วันที่: 1 กุมภาพันธ์ 2545
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีค่าใช้จ่ายค่าโฆษณา
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ตรี (9), มาตรา 77/2, มาตรา 86, มาตรา 82
ข้อหารือ: บริษัทฯ แจ้งว่า ได้ว่าจ้างให้บริษัท เอ็ม. โฆษณาพร้อมอุปกรณ์การโฆษณา ต่อมาได้มีการแจ้ง
หนี้มาที่บริษัทฯ ซึ่งเป็นราคาสูงเกินความเป็นจริง เป็นจำนวนเงิน 3,970,112.50.- บาท จึงทำให้
เกิดคดีความกันในศาล และได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาล โดยบริษัทฯ จะต้องจ่าย
ค่าโฆษณาทั้งหมด เป็นเงิน 1,300,000 บาท จึงขอหารือดังนี้
1. ค่าใช้จ่ายค่าโฆษณาจำนวน 1,300,000 บาท บริษัทฯ สามารถนำเป็นค่าใช้จ่ายใน
การคำนวณภาษีเงินได้ในปีที่มีการจ่ายชำระตามมาตรา 65 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ได้หรือไม่
2. ค่าใช้จ่ายค่าโฆษณาจำนวน 1,300,000 บาท ผู้รับจ้างโฆษณาจะต้องออก ใบกำกับภาษี/
ใบเสร็จรับเงิน ให้แก่บริษัทฯ ผู้ว่าจ้างโฆษณา หรือไม่
3. บริษัทฯ ผู้ว่าจ้างโฆษณาจะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากค่าใช้จ่ายดังกล่าวหรือไม่ ถ้า
ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จะถือเป็นเงินได้ประเภทค่าโฆษณาหรือค่าจ้างทำของ
แนววินิจฉัย: 1. กรณีตามข้อ 1 บริษัทฯ จ่ายเงินค่าโฆษณาพร้อมอุปกรณ์การโฆษณา ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายใน
การประกอบกิจการ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาล บริษัทฯ สามารถนำมาเป็นรายจ่ายใน
การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่บริษัทฯ จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวไปจริง ตาม
คำพิพากษาตามยอมได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (9) แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีตามข้อ 2 บริษัท เอ็ม. รับจ้างโฆษณาพร้อมอุปกรณ์การโฆษณา เข้าลักษณะเป็นการ
ให้บริการ ดังนั้น เมื่อบริษัท เอ็ม. ได้รับเงินค่าโฆษณา บริษัท เอ็ม. จึงมีความรับผิดในการเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่ม และต้องจัดทำใบกำกับภาษีเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทฯ ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/2
มาตรา 86 และมาตรา 82 แห่งประมวลรัษฎากร
3. กรณีตามข้อ 3 บริษัทฯ จ่ายค่าโฆษณาตามข้อเท็จจริงดังกล่าว บริษัทฯ มี หน้าที่ต้องหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งกรมสรรพากรในอัตราร้อยละ 2.0 ตามข้อ 10 ของคำสั่งกรมสรรพากร
ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
เลขตู้: 65/31247


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020