เลขที่หนังสือ | : กค 0811/พ./822 |
วันที่ | : 29 มกราคม 2545 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายเงินค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการในต่างประเทศ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 77/1(8), มาตรา 77/2(1), มาตรา 78(1) |
ข้อหารือ | : สำนักงานสรรพากรภาคได้หารือกรมสรรพากร เรื่อง ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายเงิน ค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการในต่างประเทศ โดยปรากฏข้อเท็จจริงดังนี้ 1. สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ได้เชิญพบบริษัท ค. จำกัด ซึ่งประกอบกิจการเกี่ยวกับ การผลิต ส่งออก และการขายส่งกุญแจล็อค เพื่อมาให้ถ้อยคำและนำเอกสารในการยื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ.30 สำหรับเดือนมีนาคม 2541 จากการชี้แจงพบว่าในการยื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ.30 ที่บริษัทฯ นำส่งในเดือนมีนาคมนั้น บริษัทฯ ไม่มียอดขายสำหรับเดือนดังกล่าว เนื่องมาจากบริษัทฯ เพิ่งเริ่ม ประกอบกิจการจะมีแต่ยอดซื้อที่เป็นลักษณะการลงทุน ซึ่งยอดซื้อเดือนมีนาคม 2541 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 128,679.10 บาท เป็นภาษีซื้อจำนวน 12,867.31 บาท บริษัทฯ มียอดเครดิตคงเหลือยกมาจากเดือน กุมภาพันธ์ 2541 จำนวน 163,699.13 บาท รวมกับภาษีที่บริษัทฯ ชำระเกินในเดือนมีนาคม 2541 บริษัทฯ มีสิทธิได้คืนภาษีรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 176,566.44 บาท โดยบริษัทฯ ได้ระบุขอคืนเป็นเงินสดใน แบบแสดงรายการ ภ.พ.30 2. ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ชี้แจงเกี่ยวกับขั้นตอนการผลิตเพื่อส่งออกกุญแจล็อคดังนี้ 2.1 เมื่อบริษัทฯ ได้รับใบสั่งซื้อสินค้าจากบริษัท ล. จำกัด ประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัทฯ จะดำเนินการสั่งทำแม่พิมพ์แบบกุญแจล็อคตามสเป็กที่บริษัท ล. สั่งมา โดยการผลิตแม่พิมพ์นี้บริษัทฯ ได้ ว่าจ้างบริษัทฯ ในประเทศจีนเป็นผู้ทำการผลิต 2.2 บริษัทฯ เปิดอินวอยซ์สำหรับค่าแม่พิมพ์ดังกล่าวส่งไปยังบริษัท ล็อคเท็คฯ และเมื่อ บริษัท ล. โอนเงินค่าแม่พิมพ์ตามที่ระบุไว้ในอินวอยซ์มาให้ บริษัทฯ แล้ว บริษัทฯ ก็จะดำเนินการนำเข้า แม่พิมพ์จากบริษัทฯ ผู้ผลิตแม่พิมพ์ในประเทศจีน 2.3 บริษัทฯ ทำการผลิตกุญแจล็อค โดยใช้แม่พิมพ์ที่ได้นำเข้านั้น โดยกุญแจล็อคที่ผลิตได้ ทั้งหมด บริษัทฯ ได้ส่งออกไปยัง บริษัท ล. โดยผ่านพิธีการทางศุลกากร และเมื่อบริษัท ล. ได้รับสินค้า ก็จะทำการโอนเงินค่ากุญแจล็อคมาให้บริษัทฯ 2.4 สำหรับแม่พิมพ์กุญแจล็อค บริษัทฯ ตกลงเป็นผู้รับผิดชอบดูแล คุณภาพและเก็บรักษา แม่พิมพ์ เพื่อให้คงสภาพการใช้งานได้เป็นอย่างดี และต้องรับผิดชอบใน มูลค่าของแม่พิมพ์ กรณีเกิดการ สูญหายบริษัทฯ จะต้องจัดทำขึ้นใหม่ให้ตรงตามแบบเดิมภายในกำหนดเวลา 60 วัน หรือหากสินค้าที่ผลิต ไม่เป็นที่ยอมรับทั้งในส่วนของคุณภาพ ระยะเวลาการจัดส่งรวมทั้งราคาสินค้า บริษัท ล. มีสิทธิที่จะขอรับ แม่พิมพ์จากบริษัทฯ ในสภาพ พร้อมใช้งานโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น 3. ต่อมาสำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่แจ้งบริษัทฯ ว่า บริษัทฯ มีความผิดที่ไม่ได้นำส่ง ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการรับจ้างทำแม่พิมพ์จากต่างประเทศ และให้บริษัทฯ นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มจากยอดเงิน ที่ลูกค้าโอนจากต่างประเทศค่าแม่พิมพ์พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ซึ่งทางบริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ.30 ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2542 4. สำนักงานสรรพากรภาคเห็นว่า การที่บริษัทฯ เปิดอินวอยซ์แจ้งให้บริษัท ล. ประเทศ สหรัฐอเมริกา ชำระค่าทำแม่พิมพ์แบบกุญแจล็อค และบริษัท ล. ได้โอนเงินจากต่างประเทศเข้าบัญชีของ บริษัทฯ ตามราคาที่ตกลงไว้ เห็นว่าการที่บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตกุญแจล็อคและจำหน่ายกุญแจล็อคตามปกติ อยู่แล้ว ค่าแม่พิมพ์ที่บริษัทฯ ได้รับจากบริษัท ล. ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ถือว่าเป็นการ "ขาย" ตาม มาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2(1) แห่ง ประมวลรัษฎากร โดยถือความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อลูกค้าโอนเงินเข้าบัญชีของบริษัทฯ ตามมาตรา 78(1)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีบริษัท ล. ในประเทศสหรัฐอเมริกา ชำระค่าแม่พิมพ์แบบกุญแจล็อคที่ผลิตโดยบริษัทใน ประเทศจีนให้แก่บริษัทฯ โดยแม่พิมพ์ดังกล่าว บริษัทฯ จะนำมาใช้ในการผลิตกุญแจล็อคเพื่อส่งออกให้แก่ บริษัท ล. ค่าแม่พิมพ์ที่ บริษัทฯ ได้รับดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้า ตามมาตรา 77/1(8) แห่ง ประมวลรัษฎากร จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร โดย ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้า เว้นแต่กรณีที่ได้มีการ โอนกรรมสิทธิ์สินค้า ได้รับชำระราคาสินค้า หรือได้ออกใบกำกับภาษีก่อนส่งมอบสินค้า ก็ให้ถือว่า ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้น ๆ ด้วย โดยให้ความรับผิดเกิดขึ้นตามส่วนของการกระทำนั้นๆ แล้วแต่กรณี ตามมาตรา 78(1) แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณีบริษัทฯ ขอนำภาษีที่มีสิทธิได้รับคืนจำนวน 176,566.44 บาท มาหักกลบกับ ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการตรวจสอบของเจ้าพนักงานประเมิน เนื่องจากการหักกลบลบหนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ เกิดจากการตรวจสอบ เจ้าพนักงานประเมินมีสิทธิกระทำได้ โดยนำภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนภาษีที่ชำระไว้ เกินมาหักกลบกับภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนภาษีที่ชำระไว้ขาด แต่กรณีตามข้อเท็จจริงข้างต้น บริษัทฯ ได้ ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการตรวจสอบของเจ้าพนักงานประเมินพร้อมกับเบี้ยปรับและเงินเพิ่มไปแล้ว จึงไม่มีกรณีต้องหักกลบลบหนี้กับภาษีมูลค่าเพิ่มที่มีสิทธิได้รับคืนแต่อย่างใด |
เลขตู้ | : 65/31240 |