เลขที่หนังสือ | : กค 0811/821 |
วันที่ | : 29 มกราคม 2545 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีค่าสิทธิประโยชน์ในการจำหน่ายสินค้าในร้านค้าสะดวกซื้อ ค่าธรรมเนียมสินค้าแรกเข้า และค่าตั้งโชว์สินค้า |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 65, มาตรา 40(8), มาตรา 77/2 |
ข้อหารือ | : บริษัท ซี จำกัด ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยบริษัทฯ จะจำหน่ายสินค้าให้ กับบริษัท A ซึ่งประกอบกิจการร้านค้าสะดวกซื้อ (Convenience Store) ให้แก่ ผู้บริโภคโดยตรง บริษัทฯ จะมีการตกลงกับบริษัท A ดังนี้ 1. บริษัทฯ ตกลงที่จะเป็นผู้จำหน่ายสินค้า (เฉพาะประเภทที่ระบุในสัญญา) ให้แก่บริษัท A และบริษัท A จะจำหน่ายสินค้าของบริษัทฯ (เฉพาะประเภทที่ระบุในสัญญา) แต่เพียง ผู้เดียวในร้านค้า สะดวกซื้อของบริษัท A ให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งบริษัท A จะนำสินค้า (เฉพาะประเภทที่ระบุในสัญญา) จาก แหล่งอื่นมาจำหน่ายไม่ได้ โดยบริษัทฯ จะต้องจ่ายค่าสิทธิประโยชน์ในการจำหน่ายสินค้าในร้านค้าสะดวก ซื้อ (Exclusive Fee) ให้แก่บริษัท A ตามจำนวนที่ตกลงกัน ซึ่งจะมีการจ่ายเพียงครั้งเดียวตลอด อายุสัญญา และบริษัทฯ ไม่มีสิทธิเรียกคืนไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ทั้งสิ้น 2. นอกจากสินค้าตามข้อ 1 แล้ว บริษัทฯ ตกลงที่จะเป็นผู้จำหน่ายสินค้าประเภทอื่นให้แก่ บริษัท A เพื่อบริษัท A จะได้นำสินค้ามาจำหน่ายในร้านค้าสะดวกซื้อของบริษัท A ให้แก่ ผู้บริโภคอีกด้วย โดยบริษัทฯ จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสินค้าแรกเข้า (Entrance Fee) ให้แก่บริษัท A ตามจำนวนที่ ตกลงกัน ซึ่งจะมีการจ่ายเพียงครั้งเดียวตลอดอายุสัญญา และบริษัทฯ ไม่มีสิทธิ เรียกคืนไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ การจ่ายค่าธรรมเนียมสินค้าแรกเข้าไม่จำกัดสิทธิของบริษัท A ในการนำสินค้าประเภท เดียวกันจากแหล่งอื่นมาจำหน่ายในร้านค้าสะดวกซื้อของบริษัท A อีก 3. เมื่อบริษัทฯ ได้มีการจำหน่ายสินค้าให้แก่บริษัท A แล้ว บางครั้งบริษัท A ได้ จัดให้มีการ วางสินค้าของบริษัทฯ ในชั้นที่อยู่ด้านหน้า หรือพื้นที่ที่ใช้วางสินค้าที่มองเห็นได้ชัดกว่าชั้นวางสินค้าทั่วไป เพื่อประโยชน์ในการโชว์สินค้าหรือเร่งยอดขายสินค้า โดยบริษัทฯ จะต้องจ่ายค่าตั้งโชว์สินค้าให้แก่บริษัท A ตามจำนวนที่ตกลงกัน ซึ่งจะคำนวณตามระยะเวลาที่มีการตั้งโชว์ สินค้า และบริษัทฯ ไม่มีสิทธิเรียกคืน ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ทั้งสิ้น บริษัทฯ จึงขอหารือว่า 1. ค่าตอบแทนที่บริษัทฯ ต้องจ่ายทั้ง 3 กรณีดังกล่าว ถือเป็นรายจ่ายในการประกอบกิจการ มิใช่รายจ่ายที่มีลักษณะเป็นการลงทุน บริษัทฯ จึงมีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อ เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทฯ ในรอบระยะเวลาบัญชีที่พึงต้องจ่ายตามเกณฑ์สิทธิในมาตรา 65 แห่ง ประมวลรัษฎากร สำหรับบริษัท A จะต้องรับรู้รายได้ค่าตอบแทนที่ได้รับทั้ง 3 กรณีดังกล่าวมารวมคำนวณ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ในรอบระยะเวลาบัญชีที่พึงได้รับตามเกณฑ์สิทธิในมาตรา 65 แห่ง ประมวลรัษฎากร 2. ค่าตอบแทนที่บริษัทฯ ต้องจ่ายทั้ง 3 กรณีดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากธุรกิจตาม มาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ แต่ประการใด 3. ค่าตอบแทนสิทธิที่จะจำหน่ายสินค้าแต่เพียงผู้เดียว (Exclusive Fee) และ ค่าธรรมเนียมสินค้าแรกเข้า (Entrance Fee) ไม่ถือเป็นมูลค่าฐานภาษีที่ได้รับจากการขายสินค้าหรือ การให้บริการ ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่อย่างใด ส่วนค่าตอบแทนจากการตั้งโชว์ สินค้า ถือเป็นมูลค่าจากการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร จึงอยู่ในบังคับต้องเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร 4. บริษัท A จะต้องนำค่าตอบแทนที่ได้รับทั้ง 3 กรณีดังกล่าว มารวมคำนวณเพื่อเสีย ภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่พึงได้รับตามเกณฑ์สิทธิในมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร |
แนววินิจฉัย | : 1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล ค่าสิทธิประโยชน์ในการจำหน่ายสินค้าในร้านค้าสะดวกซื้อ ค่าธรรมเนียมสินค้าแรกเข้า และค่าตั้งโชว์สินค้า ถือเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ บริษัทฯ มีสิทธินำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ทั้งจำนวนในรอบระยะเวลาบัญชีที่จ่าย เงินได้นั้น และบริษัท A ต้องนำเงินค่าตอบแทนทั้ง 3 กรณีดังกล่าวที่ได้รับจากบริษัทฯ มารวมคำนวณเป็น รายได้เพื่อคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร 2. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ค่าสิทธิประโยชน์ในการจำหน่ายสินค้าในร้านค้าสะดวกซื้อและ ค่าธรรมเนียมสินค้าแรกเข้า เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการให้รางวัลหรือประโยชน์ ใด ๆ เนื่องจาก การส่งเสริมการขาย เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินค่าสิทธิประโยชน์และค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้แก่บริษัท A บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 12/2 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หัก ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.101/2544 ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2544 สำหรับค่าตั้งโชว์สินค้า เข้าลักษณะเป็นเงินได้ จากการให้บริการตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินค่าตั้งโชว์สินค้าให้แก่ บริษัท A บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 12/1 ของ คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.104/2544 ฯ ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2544 3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีบริษัทฯ จ่ายค่าสิทธิประโยชน์ในการจำหน่ายสินค้าในร้านค้าสะดวกซื้อ และค่าธรรมเนียมสินค้าแรกเข้าให้แก่บริษัท A เนื่องจากการจ่ายเงินดังกล่าว มิได้มีผลทำให้บริษัท A ต้องให้บริการอื่นใดแก่บริษัทฯ ต่อไป ดังนั้น การจ่ายเงินค่าสิทธิประโยชน์และ ค่าธรรมเนียมดังกล่าวไม่ เข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนจากการขายสินค้าหรือการให้บริการตามมาตรา 77/1 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับกรณีบริษัทฯ จ่ายค่าตั้งโชว์สินค้าให้แก่บริษัท A เข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนจากการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัท A มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2(1) แห่ง ประมวลรัษฎากร ดังนั้น บริษัท A ต้องนำเงินค่าตั้งโชว์ สินค้ามารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีตาม มาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 65/31239 |