เลขที่หนังสือ | : กค 0811/พ./11978 |
วันที่ | : 28 ธันวาคม 2544 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่าง |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 77/1(8)(9), กฎกระทรวง ฉบับที่ 189 (พ.ศ. 2534)ฯ |
ข้อหารือ | : สำนักงานสรรพากรภาคได้หารือกรณีการขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่าง ราย บริษัทฯ ดังนี้ 1. บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ทำสัญญาซื้อขายสิทธิเวลาโฆษณาใน รายการถ่ายทอดการแข่งขันมวยทาง ททบ.5 ให้แก่บริษัท บ๊อกซิ่ง จำกัด เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2539 การถ่ายทอดสดดังกล่าวมีจำนวน 48 ครั้ง (ครั้งละ 825,000) เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง ธันวาคม 2540 โดยบริษัท บ๊อกซิ่ง จำกัด ตกลงจะชำระเงินแต่ละครั้งที่มีการชก 2. บริษัทฯ ได้ออกใบแจ้งหนี้ให้แก่บริษัท บ๊อกซิ่ง จำกัด เรียกเก็บเงินตามสัญญาทุกเดือน บริษัทฯ ยังไม่ได้รับชำระค่าสิทธิเวลาโฆษณาดังกล่าวจากบริษัท บ๊อกซิ่ง จำกัด แม้แต่งวดเดียว แต่บริษัทฯ ได้ส่งสำเนาใบแจ้งหนี้ให้แก่ สำนักงานบัญชี พร้อมเอกสารอื่น ๆ เพื่อประกอบการจัดทำบัญชีทุกเดือน โดยสำนักงานบัญชีได้นำส่งภาษีขายทุกเดือนจากรายได้ของบริษัทฯ รวมทั้งภาษีขายจากสิทธิเวลาโฆษณา โดยสำนักงานบัญชีคำนวณจากจำนวนในใบแจ้งหนี้ที่บริษัทฯ ออกให้แก่บริษัท บ๊อกซิ่ง จำกัด 3. บริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.พ.03.6 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2540 เพื่อขอรับสิทธิการเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 สำหรับรายได้ตามสัญญาซื้อขายสิทธิเวลาขายโฆษณาที่บริษัทฯ ได้ทำ กับบริษัท บ๊อกซิ่ง จำกัด ต่อมาบริษัทฯ ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.73.1) จาก สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ว่าบริษัทฯ ไม่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตามแบบ ภ.พ.03.6 เนื่องจากไม่เป็นไป ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2540 จึงทำการประเมินเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอีกร้อยละ 3.0 และมีภาษีที่ต้องชำระตามแบบแจ้งการประเมิน ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2541 และลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2543 จำนวน 432,506 บาท 4. ต่อมาบริษัทฯ ได้รับหนังสือคำสั่งอายัดที่ (สภ.) 1782/43 ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2543 โดยอายัดสิทธิเรียกร้องของบริษัทฯ ในบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนประดิพัทธ์ จำนวน 151,470 บาท 5. สำนักงานสรรพากรภาคเห็นว่า 5.1 กรณีบริษัทฯ ขายสิทธิเวลาโฆษณาให้กับบริษัท บ๊อกซิ่ง จำกัด ถือเป็นการขายสินค้าที่ ไม่มีรูปร่าง ตามมาตรา 78/3 แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษี มูลค่าเพิ่ม จะเกิดขึ้น เมื่อได้รับชำระราคาสินค้า หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทฯ ยังไม่ได้มีการออกใบกำกับภาษีก่อนที่จะ ได้รับชำระราคาสินค้า ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจึงยังไม่เกิดขึ้น ตามข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 189 (พ.ศ. 2534)ฯ ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534 5.2 กรณีบริษัทฯ ถูกประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม สาเหตุจากบริษัทฯ ไม่ได้รับสิทธิเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ต่อไป เนื่องจากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 309) พ.ศ. 2540 ซึ่งกรมสรรพากรได้ออก ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2540 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไขการได้รับสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวไว้แล้ว โดยกรณีดังกล่าวให้ถือคำวินิจฉัยของอธิบดี กรมสรรพากรเป็นที่สุด ตามข้อ 4 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2540 แต่อย่างไรก็ตามเกี่ยวกับเรื่องนี้บริษัทฯ มีสิทธิคัดค้าน โดยยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ภายหลังได้รับแจ้งการประเมิน และมีสิทธิคัดค้านโดยการยื่นอุทธรณ์ต่อศาล ภายหลังได้รับแจ้งคำวินิจฉัย อุทธรณ์ ตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร |
แนววินิจฉัย | : 1. เนื่องจากบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการจัดและถ่ายทอดสดการแข่งขันมวย ทาง ททบ.5 ทุกวันเสาร์ เวลาตั้งแต่ 22.00 น. ถึง 24.00 น. เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2540 ถึง เดือนธันวาคม 2540 (รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 12 เดือน) โดยบริษัทฯ ได้ขายสิทธิเวลาโฆษณาทั้งหมดใน รายการถ่ายทอดสดการแข่งขันมวยดังกล่าวทุกนัดให้แก่บริษัท บ๊อกซิ่ง จำกัด ตามระบุในสัญญาซื้อขายสิทธิ เวลาขายโฆษณา การโอนกรรมสิทธิ์ในเวลาโฆษณาดังกล่าวจึงเข้าลักษณะการขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่าง ตามมาตรา 77/1(8) มาตรา 77/1(9) และมาตรา 77/5 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.104/2544 ฯ ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 และอยู่ในบังคับต้องเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร โดยความรับผิดในการเสียภาษี มูลค่าเพิ่ม เกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาสินค้า เว้นแต่กรณีได้มีการโอนกรรมสิทธิ์หรือได้ออกใบกำกับภาษีเกิดขึ้นก่อน ได้รับชำระราคาสินค้า ก็ให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้น ๆ ตามมาตรา 78/3 แห่ง ประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 189 (พ.ศ. 2534) ออก ตามความใน ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มบางกรณีลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534 กรณีข้อเท็จจริงข้างต้น บริษัทฯ ได้ทำสัญญาซื้อขายสิทธิเวลาโฆษณากับบริษัท บ๊อกซิ่ง จำกัด เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2539 ถือว่ากรรมสิทธิ์ในสินค้าดังกล่าวมีการโอนไปยังผู้ซื้อในวันทำสัญญาซื้อขาย ตามมาตรา 458 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น บริษัท ฯ จึงมีหน้าที่ต้องจัดทำใบกำกับภาษี พร้อมส่งมอบใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อสินค้า ตามมาตรา 86 แห่ง ประมวลรัษฎากร การฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าว ผู้ฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 90/2(3) แห่ง ประมวลรัษฎากร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นรายครั้งที่กระทำผิดดังกล่าว 2. กรณีบริษัทฯ ได้รับแจ้งจากสำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ว่าบริษัทฯ ไม่ได้รับสิทธิในการเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตามแบบ ภ.พ.03.6 เนื่องจากสัญญาการซื้อขายสิทธิเวลาโฆษณา ของบริษัทฯ ไม่เข้าหลักเกณฑ์ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2540 ต่อมาสำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม ไปยังบริษัทฯ กรณีดังกล่าว บริษัทฯ มีสิทธิคัดค้านโดยยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายหลังได้รับแจ้งการประเมิน และ มีสิทธิคัดค้านโดยยื่นอุทธรณ์ต่อศาลภายหลังได้รับแจ้ง คำวินิจฉัยอุทธรณ์ ทั้งนี้ ตามมาตรา 30 แห่ง ประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 64/31193 |