เลขที่หนังสือ | : กค 0811/พ./11893 |
วันที่ | : 25 ธันวาคม 2544 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม อายุความการประเมินภาษี |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 88/6(1)(ค) |
ข้อหารือ | : สำนักงานสรรพากรภาคได้มีหนังสือหารือกรมสรรพากร กรณีสำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ได้ ตรวจสอบภาษีมูลค่าเพิ่มราย บริษัท บี. จำกัด ซึ่งขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินสด สำหรับเดือนตุลาคม 2538 - เดือนกรกฎาคม 2540, เดือนพฤศจิกายน 2540, เดือนกุมภาพันธ์ 2541, เดือนเมษายน 2541 - เดือนเมษายน 2542 และเดือนมิถุนายน 2542 รวม 38 เดือน เป็นเงินจำนวน 5,386,139.62 บาท แต่กรมศุลกากรแจ้งว่าบริษัทฯ ไม่มีการส่งออกสินค้าตามที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้า และมีเจตนาขอคืนเงินชดเชยภาษีอากรจากกรมศุลกากรโดยทุจริต ผลการตรวจสอบปรากฏว่า บริษัทฯ ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) โดยแสดงยอดขายที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 แสดงยอดซื้อและภาษีซื้อที่มีสิทธิขอคืน เช่น การยื่นแบบ ภ.พ.30 เดือนภาษีมกราคม 2539 บริษัทฯ ได้ แสดงยอดขายจำนวน 2,110,875.00 บาท ยอดขายที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 จำนวน 2,110,875.00 บาท ยอดซื้อจำนวน 779,565.47 บาท และภาษีซื้อจำนวน 54,567.23 บาท สพท. มีความเห็นว่า เนื่องจากยอดขายที่แสดงไว้เป็นรายการเท็จ บริษัทฯ มิได้รับหรือพึงได้ รับตามรายการที่แสดงไว้ ถือว่าบริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.พ.30 โดยแสดงฐานภาษีไว้จำนวน 0.00 บาท แต่ จากการคำนวณยอดขายในประเทศมีจำนวน 930,731.25 บาท จึงเป็นการแสดงฐานภาษีต่ำกว่ามูลค่าที่ บริษัทฯ ได้รับหรือพึงได้รับเป็นจำนวนเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของฐานภาษีที่แสดงในแบบแสดงรายการ ซึ่ง สพท. สามารถประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มได้ภายในกำหนดเวลาสิบปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่น แบบแสดงรายการภาษีตามมาตรา 88/6(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร สภ. มีความเห็นว่า แม้ว่าบริษัทฯ ไม่ได้มีการส่งออกสินค้าจริงตามที่แสดงในใบ ขนสินค้า แต่ยอดขายที่บริษัทฯ แสดงในแบบ ภ.พ.30 ว่า เป็นยอดขายที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ไม่อาจถือว่าเป็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีโดย แสดงฐานภาษีต่ำกว่ามูลค่าที่ ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับเป็นจำนวนเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของ ฐานภาษีที่แสดงในแบบแสดงรายการภาษี ตามมาตรา 88/6(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินจึงต้องประเมินภาษีภายในสองปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่น แบบแสดงรายการภาษี ตามมาตรา 88/6(1)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร จึงหารือว่า ความเห็นของ สภ.3 ถูกต้องหรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีตัวอย่างการยื่นแบบ ภ.พ.30 เดือนภาษีมกราคม 2539 ที่ส่งไปประกอบการพิจารณา ซึ่งบริษัทฯ แสดงยอดขายส่งออกจำนวน 2,110,875.00 บาท แต่กรมศุลกากรแจ้งว่า บริษัทฯ ไม่มีการ ส่งออกสินค้าตามที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้า ถือว่าบริษัทฯ มิได้ส่งออกสินค้า ตามมาตรา 77/1(14) แห่ง ประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงไม่มีรายรับจากการส่งออก หากบริษัทฯ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการขาย สินค้าตามมูลค่าดังกล่าวภายในประเทศ ถือว่าบริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.พ.30 โดยไม่มีรายรับ และเมื่อ เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้ว่าในเดือนภาษีมกราคม 2539 บริษัทฯ ขายสินค้าในประเทศได้จำนวน 930,731.25 บาท จึงเป็นกรณีบริษัทฯ ยื่นแบบแสดง รายการภาษีโดยแสดงฐานภาษีต่ำกว่ามูลค่าที่ ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับเป็นจำนวนเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของฐานภาษีที่แสดงใน แบบแสดงรายการภาษี ดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีภายในกำหนดเวลาสิบปีนับแต่ วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี ตามมาตรา 88/6(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร 2. อย่างไรก็ดี กรณีที่บริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.พ.30 แสดงยอดขายส่งออกซึ่งบริษัทฯ ได้รับสิทธิ เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ เจ้าพนักงานประเมินตรวจพบว่า บริษัทฯ มิได้ส่งออก แต่ได้มีการจำหน่ายจ่ายโอนสินค้าไปจริง ซึ่งถือ เป็นการขายสินค้าในราชอาณาจักร บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตาม มาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีดังกล่าว ถือว่าบริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.พ.30 แสดงฐานภาษีซึ่งเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ว่าไม่มีรายรับ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินตรวจพบว่า ยอดขายส่งออก ตามแบบ ภ.พ.30 เป็นยอดขายสินค้าในประเทศจึงเป็นผลทำให้บริษัทฯ ยื่นแบบแสดงรายการภาษีโดย แสดงฐานภาษีต่ำกว่ามูลค่าที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับเป็นจำนวนเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของ ฐานภาษีที่แสดงในแบบแสดงรายการภาษี ดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีภายใน กำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี ตามมาตรา 88/6(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 64/31189 |