เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/11729
วันที่: 19 ธันวาคม 2544
เรื่อง: ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีภาษีอากรของธนาคารพาณิชย์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 91/2(1), มาตรา 91/5(1)
ข้อหารือ: บริษัทฯ หารือกรมสรรพากรเกี่ยวกับการเสียภาษีอากรของกิจการธนาคารพาณิชย์ ดังนี้
1. ลูกค้าของบริษัทฯ เป็นสถาบันการเงินซึ่งประกอบธุรกิจธนาคาร ได้แก่ การให้กู้ยืม การ
เป็นตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ การปริวรรตเงินตรา การให้บริการโอนเงิน และธุรกิจบัตรเครดิตในกรณีการเป็น
ตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ ธนาคารจะทำสัญญากับผู้ถือหุ้นกู้โดยมีสาระสำคัญว่า ธนาคารตกลงเป็นผู้แทนของผู้ถือหุ้นกู้
ในการทำนิติกรรมจำนำ จำนอง รับหลักประกันต่าง ๆ แทนผู้ถือหุ้นกู้ รวมทั้งดำเนินการต่าง ๆ เพื่อ
ประโยชน์ของผู้ถือหุ้นกู้ โดยธนาคารมีหน้าที่ระวังรักษาผลประโยชน์ของ ผู้ถือหุ้นกู้ และผู้ออกหุ้นกู้เป็น
ผู้จ่ายค่าธรรมเนียมให้ บริษัทฯ เข้าใจว่า สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญา ตัวแทนที่ต้องปิดอากร 30 บาท
2. การให้บริการบัตรเครดิตในกรณีของบัตรเครดิตระหว่างประเทศ มีวิธีการดังนี้
(1) มีบริษัทเจ้าของเครื่องหมายบัตรเครดิตดำเนินการจัดตั้งเครือข่ายและศูนย์หักบัญชีใน
แต่ละประเทศ
(2) สถาบันการเงินในแต่ละประเทศจะมีความตกลงกับเจ้าของเครือข่ายในการออกบัตร
(3) แต่ละสถาบันการเงินจะมีลูกค้าที่สถาบันการเงินนั้นออกบัตรให้ (ผู้ถือบัตร) และมี
ร้านค้าสมาชิกของสถาบันการเงินนั้นที่ตกลงรับบัตรเครดิตและนำ sale slip มาขายให้สถาบันการเงิน
อย่างไรก็ดี สถาบันการเงินที่เข้าเป็นสมาชิกเครื่องหมายบัตรเครดิตจะมีข้อ ตกลงกับ
บริษัทเจ้าของเครื่องหมายบัตรเครดิต ให้ผู้ถือบัตรที่ออกโดยต่างสถาบันการเงินซึ่งอยู่ในเครือข่าย
สามารถนำบัตรเครดิตมาใช้กับร้านค้าใด ๆ ที่เป็นสมาชิกของสถาบันการเงินนั้นได้ บริษัทฯ หารือว่า
2.1 กรณีบริษัทเจ้าของเครื่องหมายบัตรเครดิตมีข้อตกลงกับสถาบันการเงินในเครือข่าย
ว่า ผู้ถือบัตรเครดิตของสถาบันการเงินใด ๆ สามารถนำบัตรเครดิตไปซื้อสินค้าหรือรับบริการที่ร้านค้า
สมาชิกของสถาบันการเงินในเครือข่ายรายใดก็ได้ โดยสถาบันการเงินที่ออกบัตรเครดิตจะเป็น
ผู้ดำเนินการเรียกเก็บเงินจากผู้ถือบัตรของตนให้ แล้วโอนเงินผ่านระบบหักบัญชีของศูนย์หักบัญชีของบริษัท
เจ้าของเครื่องหมายบัตรเครดิต เพื่อชำระให้แก่ร้านค้าสมาชิกที่ผู้ถือบัตรเครดิตรายนั้นซื้อสินค้าหรือรับ
บริการต่อไป กรณีดังกล่าว ธนาคารซึ่งเป็นลูกค้าของบริษัทฯ จะจ่ายเงินค่าธรรมเนียมที่เรียกว่า
Interchange fee ให้แก่สถาบันการเงินที่ออกบัตรเครดิตตามอัตราที่ ตกลงกัน เพื่อเป็นค่าบริการ
เรียกเก็บเงินแทนและค่าบริการในการโอนเงินให้ และในทางกลับกัน หากผู้ถือบัตรเครดิตของธนาคาร
ซึ่งเป็นลูกค้าของบริษัทฯ ไปใช้บริการที่ร้านค้าสมาชิกต่างสถาบันการเงิน ลูกค้าของบริษัทฯ ก็จะ
ให้บริการเรียกเก็บเงินแทนและให้บริการโอนเงิน โดยเรียกเก็บ Interchange fee จากธนาคาร
หรือสถาบันการเงินนั้น ๆ บริษัทฯ มีความเข้าใจว่า การให้บริการเรียกเก็บเงินแทนและให้บริการโอน
เงินดังกล่าวเป็นขั้นตอนของการเรียกเก็บหนี้ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังการใช้บัตรเครดิตสิ้นสุดลง และสามารถ
แยกออกได้ต่างหากจากการให้บริการบัตรเครดิต ดังนั้น ค่าธรรมเนียม Interchange fee จึงอยู่ใน
บังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
2.2 ในกรณีผู้ถือบัตรเครดิตของธนาคารซึ่งเป็นลูกค้าของบริษัทฯ ได้นำบัตรเครดิตไปใช้
ซื้อสินค้าในต่างประเทศ หรือนำไปเบิกเงินสดในต่างประเทศ จากร้านค้าหรือจากเคาน์เตอร์ที่มี
เครื่องหมายบัตรเครดิตที่ลูกค้าของบริษัทฯ อยู่ในเครือข่าย กรณีดังกล่าว ศูนย์หักบัญชีของบริษัทเจ้าของ
เครื่องหมายบัตรเครดิตจะแจ้งยอดการใช้ และอัตราแลกเปลี่ยน แล้วแจ้งยอดเรียกเก็บมายังผู้ถือ
บัตรเครดิตโดยผ่านธนาคารซึ่งเป็นลูกค้าของบริษัทฯ จากนั้นลูกค้าของบริษัทฯ จะดำเนินการเรียกเก็บหนี้
จากผู้ถือบัตรเครดิตเป็นเงินบาทซึ่งคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนตามที่ศูนย์ฯกำหนด แต่ศูนย์ฯจะตัดบัญชีระหว่าง
กันที่ลูกค้าของบริษัทฯ มีอยู่กับศูนย์ฯ ตามยอดการซื้อสินค้าหรือเบิกเงินของผู้ถือบัตรเครดิตเป็นเงินสกุล
เหรียญสหรัฐอเมริกา ภายหลังจากนั้น ศูนย์ฯจะจ่ายค่าธรรมเนียม Conversion fee ให้ลูกค้าของ
บริษัทฯ เป็นร้อยละที่กำหนดของยอดเงินเหรียญสหรัฐอเมริกาที่รับชำระจากลูกค้าของบริษัทฯ บริษัทฯ มี
ความเข้าใจว่า ค่าธรรมเนียม Conversion fee เป็นค่าธรรมเนียมที่ได้เนื่องจากลูกค้าของบริษัทฯ
ได้เรียกเก็บหนี้แทนเป็นเงินบาท แต่ส่งมอบเงินที่ได้จากการเรียกเก็บหนี้แทนเป็นเงินเหรียญ
สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นรายได้จากการแลกเปลี่ยนสกุลเงินเช่นเดียวกับการดำเนินการในธุรกิจ
แลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
แนววินิจฉัย: 1. สัญญาระหว่างลูกค้าของบริษัทฯ กับผู้ถือหุ้นกู้ ตามข้อเท็จจริง เข้าลักษณะเป็นสัญญาตัวแทน
มอบอำนาจทั่วไป อยู่ในบังคับต้องเสียอากรแสตมป์ โดยผู้ที่ต้องเสียอากร คือ ตัวการ ซึ่งต้องเสียค่า
อากรแสตมป์ 30 บาท ตามลักษณะแห่งตราสาร 21. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์
2. กรณีสถาบันการเงินในเครือข่ายของเจ้าของเครื่องหมายบัตรเครดิตจ่ายเงิน
ค่าธรรมเนียมที่เรียกว่า Interchange fee ให้แก่สถาบันการเงินที่ออกบัตรเครดิตตามอัตราที่ตกลงกัน
เพื่อเป็นค่าบริการเรียกเก็บเงินแทนและค่าบริการในการโอนเงินให้ เงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็น
ค่าธรรมเนียมในการโอนเงิน ซึ่งเข้าลักษณะเป็นรายรับจากกิจการเฉพาะอย่างที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ
กิจการธนาคาร จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(1) และมาตรา 91/5(1)
แห่งประมวลรัษฎากร
3. กรณีศูนย์หักบัญชีของบริษัทเจ้าของเครื่องหมายบัตรเครดิตแจ้งยอดการใช้ และ
อัตราแลกเปลี่ยน แล้วแจ้งยอดเรียกเก็บมายังผู้ถือบัตรเครดิตโดยผ่านธนาคารซึ่งเป็นลูกค้า ของบริษัทฯ
ภายหลังจากนั้นลูกค้าของบริษัทฯ จะดำเนินการเรียกเก็บหนี้จากผู้ถือบัตรเครดิตเป็น เงินบาทซึ่งคำนวณ
อัตราแลกเปลี่ยนตามที่ศูนย์ฯกำหนด แต่ศูนย์ฯ จะตัดบัญชีระหว่างกันที่ลูกค้าของบริษัทฯ มีอยู่กับศูนย์ฯ ตาม
ยอดการซื้อสินค้าหรือเบิกเงินของผู้ถือบัตรเครดิตเป็นเงินสกุลเหรียญสหรัฐอเมริกา ซึ่งศูนย์ฯจะจ่าย
ค่าธรรมเนียม Conversion fee ให้ลูกค้าของบริษัทฯ เป็นร้อยละที่กำหนดของยอดเงินเหรียญ
สหรัฐอเมริกาที่รับชำระจากลูกค้าของบริษัทฯ เงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นค่าธรรมเนียมในการโอน
เงิน ซึ่งเข้าลักษณะเป็นรายรับจากกิจการเฉพาะอย่างที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจการธนาคาร จึงอยู่ใน
บังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(1) และมาตรา 91/5(1) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 64/31181


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020