เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/11695
วันที่: 19 ธันวาคม 2544
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีสุราในระบบเหมาจ่ายเสื่อมคุณภาพ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/2, มาตรา 80
ข้อหารือ: บริษัทฯ ได้ซื้อสุราจากผู้ประกอบการซึ่งได้รับอนุญาตทำสุราที่มีสัญญาผูกพันกับกรมสรรพสามิต
หรือกรมโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535 โดยในสัญญากำหนดให้ผู้ประกอบการ
ดังกล่าวต้องชำระเงินให้แก่รัฐบาลเป็นการเหมาจ่าย ซึ่งเป็นเงินที่รวมค่าภาษีสุราและค่าผลประโยชน์
ด้วย ดังนั้น การผลิตสุราในระหว่างสัญญาสัมปทาน ผู้ประกอบการได้รับสิทธิเสียภาษีสุราตามอัตราเดิม
ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 ทั้งนี้ ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติสุรา (ฉบับที่
6) พ.ศ. 2534 อันเป็นผลทำให้ผู้ประกอบการซึ่งได้รับอนุญาตทำสุราขายสุราดังกล่าวไปตั้งแต่วันที่ 1
มกราคม พ.ศ. 2535 เป็นต้นไป ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 28(1) แห่ง
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2534 และแม้ว่าในปี พ.ศ. 2542 ซึ่ง
เป็นปีที่สิ้นสุดสัญญา ผู้ประกอบการไม่สามารถขายสุรา ดังกล่าวได้หมด แต่ต้องนำไปขายตั้งแต่วันที่ 1
มกราคม พ.ศ. 2543 เป็นต้นไป ผู้ประกอบการ ดังกล่าวก็ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา
28(1) แห่งพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 และบริษัทฯ ซึ่งซื้อ
สุราไปขายต่อไปก็ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 28(2) แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม
ประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 กรณีดังกล่าว กรมสรรพากรได้มีหนังสือตอบผู้ประกอบการซึ่ง
ได้รับอนุญาตทำสุราตามหนังสือที่ กค 0811/10676 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2542 และหนังสือซ้อม
ความเข้าใจตามหนังสือที่ กค 0811/12878 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2542 อย่างไรก็ดี ปรากฏว่าสุราที่
ซื้อนั้นบางส่วนเสื่อมคุณภาพ เช่น สีจาง ฉลากฝากล่องสกปรก สุราพร่อง ไม่สามารถนำออกขายได้
บริษัทฯจะต้องส่งคืนโรงงานเพื่อปรับปรุงคุณภาพ โดยยังเป็นสุราประเภทเดิม ซึ่งกรมสรรพสามิตจะจ่าย
แสตมป์สุราทดแทนให้ตามมูลค่าของแสตมป์สุราที่กรมสรรพสามิตอนุมัติให้จ่ายทดแทนได้ ตามระเบียบ
กรมสรรพสามิตว่าด้วยการจ่ายแสตมป์สุราทดแทน พ.ศ.2532 และกรณีที่บริษัทฯ ได้นำสุราในถัง แทงค์
จากผู้ประกอบการซึ่งได้รับอนุญาตทำสุราที่มีสัญญาผูกพันกับกรมสรรพสามิตก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.
2535 ไปบรรจุภาชนะขวดเป็นสุราประเภทเดิมออกขาย โดยบริษัทฯ สามารถนำค่าภาษีสุราที่เสียไว้เดิม
มาหักออกจากจำนวน เงินค่าภาษีสุราที่ต้องเสียได้ ซึ่งทั้งสองกรณีจำนวนเงินค่าภาษีสุราที่ได้เสียไว้เดิม
น้อยกว่าค่าภาษีสุราปัจจุบันที่ต้องเสีย บริษัทฯ จะเสียภาษีสุราเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถบรรจุสุราได้จำนวน
เท่าเดิม บริษัทฯ หารือว่า การขายสุราบรรจุภาชนะขวดทั้งสองกรณีดังกล่าว บริษัทฯ ยังคงไม่ต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ ได้ซื้อสุราจากผู้ประกอบการซึ่งได้รับอนุญาตทำสุราที่มีสัญญา ผูกพันกับ
กรมสรรพสามิตหรือกรมโรงงานอุตสาหกรรมก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535 และเป็นสุราที่ได้เสีย
ภาษีสุราครบถ้วนตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติสุรา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2534 แล้วหากบริษัทฯยังขาย
สุราไม่หมด และปรากฏว่าสุราดังกล่าวได้แปรสภาพไปเองจนไม่สมควรจะใช้ดื่มต่อไป จึงได้ส่งคืน
ผู้ประกอบการ (โรงงานสุรา) ซึ่งในทางปฏิบัติโรงงานสุราจะต้องแจ้งสำนักงานสรรพสามิตจังหวัดท้องที่
ที่สุราเก็บอยู่ เพื่อหน่วยงานดังกล่าวจะนำสุราไปพิสูจน์วิเคราะห์ว่าเสื่อม คุณภาพจริงหรือไม่ หาก
เสื่อมคุณภาพจริง ผู้ประกอบการดังกล่าวมีสิทธิที่จะได้รับคืนค่าภาษีสำหรับสุราที่ส่งคืนนั้น ตามมาตรา 11
แห่งพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 โดยกรมสรรพสามิตจะไม่จ่ายคืนภาษีสุราเป็นเงินสด แต่จ่ายเป็น
แสตมป์สุราทดแทนให้ ตามระเบียบกรมสรรพสามิตว่าด้วยการจ่ายแสตมป์สุราทดแทน พ.ศ. 2532
ลงวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 ดังนั้น หากผู้ประกอบการ นำสุราที่ได้รับกลับคืนนั้นไปเป็นวัตถุดิบใน
การทำสุราและขายไปใหม่ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะขายภายใต้ยี่ห้อเดิมหรือยี่ห้อใหม่ ถือเป็นการทำสุรา ซึ่งต้อง
เสียภาษีสุราตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ.2493 สำหรับในการเสียภาษีสุรานั้น
กรมสรรพสามิตยอมให้นำแสตมป์สุราที่ได้รับทดแทนมาปิดภาชนะได้ หากแสตมป์สุราที่ได้รับทดแทนมีจำนวน
น้อยกว่าค่าภาษีสุราปัจจุบันที่ต้องเสีย ผู้ประกอบการ (โรงงาน) จะต้องเสียภาษีสุราเพิ่มเติมให้ครบถ้วน
กรณีดังกล่าว สุราที่ทำขึ้นใหม่ไม่เข้าลักษณะเป็นสุราที่อยู่ในบังคับมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติสุรา (ฉบับ
ที่ 6) พ.ศ. 2534 ดังนั้น เมื่อผู้ประกอบการซึ่งได้รับอนุญาตทำสุราที่มีสัญญาผูกพันกับกรมสรรพสามิตหรือ
กรมโรงงาน อุตสาหกรรมก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2535 ได้ขายสุราที่ทำใหม่ไปจึงไม่ได้รับสิทธิที่
ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 28(1) แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่
30) พ.ศ. 2534 แต่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 77/2 และมาตรา
80 แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีบริษัทฯ ได้ซื้อสุราจากผู้ประกอบการซึ่งได้รับอนุญาตทำสุราที่มีสัญญา ผูกพันกับ
กรมสรรพสามิตหรือกรมโรงงานอุตสาหกรรมก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535 และเป็นสุราที่ได้เสีย
ภาษีสุราครบถ้วนตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติสุรา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2534 แล้ว หากบริษัทฯ ยัง
ขายสุราไม่หมด และปรากฏว่าสุราดังกล่าวสีจาง ฉลากฝากล่องสกปรก สุราพร่องจึงได้ส่งคืน
ผู้ประกอบการ (โรงงานสุรา) เพื่อปรับปรุงคุณภาพโดยยังเป็นสุราประเภทเดิม ซึ่งในทางปฏิบัติ
ผู้ประกอบการจะต้องแจ้งกรมสรรพสามิตว่ารับคืนสุรา ผู้ประกอบการต้องแกะลอกแสตมป์สุราโดยอยู่
ภายใต้การควบคุมของกรมสรรพสามิต และเติมสีหรือเปลี่ยนฉลาก หรือนำสุราที่พร่องมารวมบรรจุภาชนะ
ใหม่ แต่ต้องขายภายใต้ยี่ห้อเดิม หลังจากนั้นผู้ประกอบการต้องปิดแสตมป์สุราใหม่ซึ่งอัตราปัจจุบันสูงกว่า
อัตราเดิม ซึ่งกรมสรรพสามิตยินยอมให้นำค่าแสตมป์สุราเดิมมาหักออกได้นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้อง
เปลี่ยนฉลากใหม่เนื่องจากวันเดือนปีในแสตมป์สุราต้องเป็นวันเดือนปีเดียวกันกับในฉลาก ในการบรรจุ
ใหม่นี้ กรมสรรพสามิตถือว่ายังเป็นสุราตามกฎหมายอยู่ ไม่ถือว่าเป็นการทำสุรา สุราที่ปรับปรุงใหม่จึงยัง
เป็นสุราที่อยู่ในบังคับมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติสุรา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2534 ดังนั้น เมื่อ
ผู้ประกอบการซึ่งได้รับอนุญาตทำสุราที่มีสัญญาผูกพันกับกรมสรรพสามิตหรือกรมโรงงานอุตสาหกรรมก่อน
วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535 ได้ขายสุราที่ปรับปรุงใหม่ไป จึงไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา
28(1) แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534
3. กรณีบริษัทฯ ได้ซื้อสุราจากผู้ประกอบการซึ่งได้รับอนุญาตทำสุราที่มีสัญญา ผูกพันกับ
กรมสรรพสามิตหรือกรมโรงงานอุตสาหกรรมก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2535 เป็นถังหรือแทงค์ และนำ
สุราในถัง แทงค์ไปบรรจุภาชนะขวดเป็นสุราประเภทเดิมออกขาย หากเป็นการเติมสี เปลี่ยนฉลาก หรือ
สุราพร่องดังเช่นกรณีตาม 2. เมื่อขายสุราดังกล่าวไป ก็ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 28(1)
แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 แต่หากเป็นการทำสุรา
ดังเช่นกรณีตาม 1. บริษัทฯมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 77/2 และ
มาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 64/31178


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020